คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๖๐/๒๕๖๑ 
               ป.วิ.อ. มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าถ้าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญา สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไป ตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญา แม้ถึงว่าผู้เยาว์หรือผู้วิกลจริตในมาตรา ๑๙๓/๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะเป็นผู้ฟ้องหรือได้ฟ้องต่างหากจากคดีอาญาก็ตามดังนั้นหากพิจารณาแล้วได้ความตามฟ้องโจทก์ทั้งสามที่บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดโดยแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาแก่พนักงานสอบสวนว่า โจทก์ทั้งสามร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น และมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นอันเป็นความผิดและมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสามให้ต้องรับผิดทางอาญาทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดอาญาตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๓ ประกอบมาตรา ๑๗๔ วรรคสอง คำฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญามีกำหนดอายุความทางอาญา ๑๐ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๙๕ (๓) โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ภายในกำหนด ๑๐ ปี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๘ วรรคสอง

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๔๙๐๒/๒๕๕๘ เมื่อมูลคดีนี้ไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทางอาญา สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๘ วรรคสอง มาใช้บังคับ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๑๗ วรรคแรก มีอายุความทางอาญา ๑๕ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๙๕(๒) ซึ่งเป็นกำหนดอายุความที่ยาวกว่าอายุความทางแพ่งในมูลละเมิด จึงต้องเอาอายุความ ๑๕ ปี มาใช้บังคับ จำเลยกระทำละเมิดเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ยังไม่พ้นกำหนด ๑๕ ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
               ฎีกาที่ ๑๑๑๐๘/๒๕๕๗ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดโดยแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาแก่พนักงานสอบสวนว่า โจทก์กับพวกร่วมกันปลอมเอกสารราชการหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. และใช้เอกสารราชการปลอม อันเป็นความผิดและมีโทษตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๒ ๑๗๓ ๑๗๔ วรรคสอง และ ๑๘๑(๑) ทำให้โจทก์ได้รับความเสีย หาย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งมีกำหนดอายุความทางอาญา ๑๐ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๙๕ (๓) โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๘ วรรคสอง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ถอนคำร้องทุกข์คดีอาญา ถือว่าความผิดทางอาญาฐานแจ้งความเท็จยังไม่เกิดขึ้น จึงต้องใช้อายุความละเมิดทั่วไปในทางแพ่ง ๑ ปี โจทก์ฟ้องคดีเกิน ๑ ปี นับแต่วันที่รู้เหตุแห่งการทำละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ฟังไม่ขึ้น
               ฎีกาที่ ๖๐๒๖/๒๕๕๐ ในคดีอาญาของศาลชั้นต้น พนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๑ ได้รับอันตรายสาหัส ร. ซึ่งนั่งมาในรถยนต์คันเดียวกันกับโจทก์ที่ ๑ ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา ๓๐๐, ๓๙๐ โจทก์ที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่ถูกจำเลยขับชนไม่ใช่ผู้เสียหายในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ส่วนข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา ๔๓, ๑๕๗ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ดังนี้ โจทก์ที่ ๒ เจ้าของรถยนต์คันที่ถูกชนจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาดังกล่าว และถือไม่ได้ว่าพนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ ๒ ดังนั้น ฟ้องโจทก์คดีนี้ในส่วนของโจทก์ที่ ๒ จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวกับคดีอาญาตามความหมายแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา ๕๑ ในอันที่จะนำอายุความในทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๘ วรรคสอง แต่ต้องใช้อายุความ ๑ ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ที่ ๒ รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยตั้งแต่วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๖ อันเป็นวันทำละเมิด โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๘ ฉะนั้น นับแต่วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๖ ถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ จึงล่วงพ้นกำหนด ๑ ปี คดีสำหรับโจทก์ที่ ๒ จึงขาดอายุความ
               ฎีกาที่ ๒๘๘๔/๒๕๔๓ โจทก์อาศัยมูลคดีอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์มาฟ้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิด จึงเป็นฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้โจทก์เคยร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวนให้ดาเนินคดีอาญาแก่จำเลยในความผิดฐานบุกรุกและฐานทำให้เสียทรัพย์ พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าวมาแล้ว ก็ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการดังกล่าว มีผลกระทบกระเทือนถึงอายุความในการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาของผู้เสียหายแต่อย่างใด เมื่อมูลคดีนี้ไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทางอาญา กรณีจึงต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๘ วรรคสอง มาใช้บังคับ มิใช่ถือเอาอายุความ ๑ ปี ฐานละเมิดตามมาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๙๕ ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
               (๓) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๔๔๘ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึ่งต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด
               แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๕๑ ถ้าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญา สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไปตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญา แม้ถึงว่าผู้เยาว์หรือผู้วิกลจริตในมาตรา ๑๙๓/๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะเป็นผู้ฟ้องหรือได้ฟ้องต่างหากจากคดีอาญาก็ตาม
               ถ้าคดีอาญาใดได้ฟ้องต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลด้วยแล้ว แต่คดียังไม่เด็ดขาด อายุความซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตามมาตรา ๙๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
               ถ้าโจทก์ได้ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษาลงโทษจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีตามกำหนดอายุความในมาตรา ๑๙๓/๓๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               ถ้าโจทก์ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์