คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๒๗๑/๒๕๖๑
แม้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทที่ถูกยึดไว้ในคดีนี้
มีชื่อจำเลยที่ ๒ และ ฉ. ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแขวงนนทบุรี โดยผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว
จำเลยที่ ๒ และ ฉ. มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน อันถือว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน
แต่การที่ผู้ร้องจะขอเฉลี่ยทรัพย์ได้นั้น ผู้ร้องต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ในคดีนี้
เมื่อผู้ร้องเป็นแต่เพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ ฉ. มิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่
๒ ในคดีนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา
๒๙๐ วรรคหนึ่ง (เดิม)
เพิ่มเติม
ฎีกาที่
๑๕๓๒๖/๒๕๕๘ ป.วิ.พ. มาตรา ๒๙๐ มิได้บัญญัติไว้ว่าศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้เฉลี่ยทรัพย์ได้จะต้องมีการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ก่อน
จึงแปลความได้ว่าแม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมิได้มีคำสั่งประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดไว้ก็ตาม
ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นค่าร้องเฉลี่ยทรัพย์ได้ก่อนเสมอซึ่งมิได้ต้องห้ามตามบทบัญญัติดัง
กล่าว
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย
แต่จากสภาพทรัพย์จำนองเห็นได้ว่าหากขายทอดตลาดแล้วจะได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่ผู้ร้อง
ประกอบกับจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องจะบังคับชำระหนี้ได้ซึ่งถือว่าเป็นเหตุผลที่ผู้ร้องใช้อ้างมาในคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องจะบังคับชำระหนี้ได้อัน
เป็นการสนับสนุนคำร้องเพื่อให้มีความชัดแจ้งถึงวัตถุประสงค์แห่งความจำเป็นที่จะต้องยื่นค่าร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้เท่านั้น
แม้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๓๘๑/๒๕๔๕ และ ๖๖๖/๒๕๔๖ ผู้ร้องจะได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ขายทอดตลาดก็ตาม
ผู้ร้องก็มีสิทธิ์เข้าเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดคดีนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา
๒๙๐
ฎีกาที่
๑๐๙๕๗/๒๕๕๔ ในวันนัดไต่สวนคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์
ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความแล้วจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าผู้ร้องแถลงว่า จำเลยมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก
ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก ส่วนโจทก์แถลงว่า จำเลยมีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องสามารถยึดทรัพย์มาชำระหนี้ได้
ปรากฏตามคำแถลงบัญชีรายละเอียดที่โจทก์ได้ยื่นประกอบคำคัดค้านไว้
เมื่อเอกสารที่โจทก์ อ้างดังกล่าวเป็นเอกสารที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินต่าง
ๆ ของฝ่ายจำเลย ประกอบด้วยสำเนาโฉนดที่ดิน สำเนาหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดและภาพถ่ายอาคารจำนวนมาก
ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความและนำรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งหมดในเอกสารมาประกอบการพิจารณาแล้ววินิจฉัยทำคำสั่งไปนั้น
จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการไต่สวนแล้ว
มิใช่แต่เฉพาะว่าการสืบพยานบุคคลเท่านั้นที่จะเป็นการไต่สวน และหากจะให้คู่ความนำพยานเข้าไต่สวนก็จะไม่ได้ข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากการสอบถามของศาลดังกล่าว
และไม่อาจทำให้ประเด็นที่มีคำสั่งเปลี่ยนไป ศาลชั้นต้นจึงย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงที่ได้มารับฟังประกอบดุลพินิจทำคำสั่งได้ตามที่เห็นสมควรโดยไม่จำต้องสืบพยาน
ฎีกาที่ ๕๗๔๙/๒๕๕๓ การห้ามยึดหรืออายัดทรัพย์สินตาม
ป.วิ.พ. มาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่ง ต้องเป็นทรัพย์รายเดียวกันของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยมีเงินเดือน ๒๗,๐๐๐ บาท
ถูกอายัดเงินเดือนครั้งแรกในคดีที่ ๑ เป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท ครั้งที่ ๒ ในคดีที่ ๒ เป็นเงิน
๓,๐๐๐ บาท ครั้งที่ ๓ คือคดีนี้โจทก์อายัดไว้ ๕,๐๐๐ บาท ดังนั้น การอายัดของโจทก์จึงเป็นการอายัดเงินเดือนของจำเลยในจำนวนที่แยกต่างหากจากที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นได้อายัดไว้
จึงไม่ใช่การอายัดซ้ำ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๓๒๖
เมื่อมีการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อเอาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายหนึ่งแล้ว
ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นดำเนินการให้มีการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้นซ้ำอีก
แต่ให้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี ขอให้มีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินจากการยึดหรืออายัดนั้นได้ตามส่วนแห่งจำนวนหนี้ตามคำพิพากษา
ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำร้องเช่นว่านี้
เว้นแต่ศาลเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ
ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ถ้าเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรหรือกฎหมายอื่นที่จะสั่งยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
เพื่อบังคับชำระหนี้ที่ค้างชำระตามกฎหมายนั้น ๆ ได้เองได้
ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องตามวรรคหนึ่งไว้ก่อนแล้ว
ให้มีสิทธิขอเข้าเฉลี่ยได้โดยไม่อยู่ภายในบังคับของบทบัญญัติวรรคสอง
แต่ถ้าเจ้าพนักงานดังกล่าวมิได้ยึดหรืออายัดไว้ก่อน
ให้มีสิทธิขอเข้าเฉลี่ยได้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่น
ในกรณีที่ยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น
คำร้องเช่นว่านี้ให้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดหรือจำหน่ายได้ในครั้งนั้น
ๆ
ในกรณีที่อายัดสิทธิเรียกร้อง
ให้ยื่นคำร้องเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันชำระเงินหรือวันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งสิทธิเรียกร้องตามที่อายัดนั้นได้
ในกรณีที่ยึดเงิน
ให้ยื่นคำร้องเช่นว่านี้ก่อนสิ้นระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันยึด
เมื่อได้ส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว
ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการจ่ายเงินหรือทรัพย์สินตามคำบังคับตั้งแต่การขาย การจำหน่าย
หรือการชำระเงินตามที่ได้อายัดในครั้งที่ขอเฉลี่ย นั้น แล้วแต่กรณี
ไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อศาลได้มีคำสั่งประการใดและส่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแล้ว
ก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติไปตามคำสั่งเช่นว่านั้น
0 Comments
แสดงความคิดเห็น