คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๕๔๗/๒๕๖๑(ประชุมใหญ่) 
               สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ และจำเลยกำหนดให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ศ. บุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๗ บัญญัติว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ (๑) กำหนดที่อยู่ของบุตร (๒) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน (๓) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป (๔) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับในกรณี การขอเปลี่ยนชื่อสกุลของผู้เยาว์นั้น หากบิดาไปคัดค้านขณะยื่นคำร้อง หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่มีคำสั่งเรียกบิดามาเพื่อสอบถามแล้วได้ความว่าบิดาคัดค้าน ทางเจ้าหน้าที่ก็จะไม่ดำเนินการเปลี่ยนชื่อสกุลผู้เยาว์ให้ ดังนี้ จึงไม่เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำได้โดยลำพังคนเดียว เพราะไม่ใช่กรณีที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๗ ทั้งไม่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความว่า ให้จำเลยมีอำนาจเปลี่ยนชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์ของโจทก์มาใช้ชื่อสกุลของจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และก่อนที่โจทก์และจำเลยจะหย่าขาดจากกัน บุตรผู้เยาว์ก็ใช้ชื่อสกุลของโจทก์อยู่แล้ว การที่จำเลยมาเปลี่ยนชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์มาใช้ชื่อสกุลของจำเลย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิเปลี่ยนชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์มาใช้ชื่อสกุลของจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ เมื่อคำนึงถึงว่าโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นบิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๖๔ วรรคหนึ่ง เพื่อความผาสุกและความสัมพันธ์อันดีของบิดาและบุตร ที่ศาลล่างทั้งสอง ให้ใส่ชื่อสกุล ธ.ของโจทก์เป็นชื่อรองของเด็กหญิง ศ.จึงชอบแล้ว
               คดีมีประเด็นโต้เถียงกันว่า ที่จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลของโจทก์มาเป็นชื่อสกุลของจำเลย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ชอบหรือไม่ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และโดยที่โจทก์ประสงค์ให้เพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองของบุตรผู้เยาว์ กรณีนี้มิใช่เรื่องที่บุตรผู้เยาว์ของโจทก์และจำเลยที่มีชื่อตัวหรือชื่อรองอยู่แล้ว ประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรอง ซึ่งต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่เสียก่อน ตาม พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๖ วรรคสอง และมาตรา ๑๖ ศาลจึงมีอำนาจเพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองให้แก่บุตรผู้เยาว์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้เพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองแทนที่จะให้บุตรผู้เยาว์ใช้ชื่อสกุลของโจทก์ดังเดิม นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้วและยังอยู่ในประเด็นที่โต้เถียงกันว่าบุตรผู้เยาว์จะใช้ชื่อสกุลของผู้ใด กรณีจึงไม่ใช่เรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น และเกินคำขอ

พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕
               มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
               ชื่อรองหมายความว่า ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว
               ชื่อสกุลหมายความว่า ชื่อประจำวงศ์สกุล
               มาตรา ๕ ผู้มีสัญชาติไทยต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุล และจะมีชื่อรองก็ได้
               มาตรา ๖ ชื่อตัวต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม และต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
               ชื่อรองต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง และต้องไม่พ้องกับชื่อสกุลของบุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งหรือกรณีบุตรใช้ชื่อสกุลเดิมของมารดาหรือบิดาเป็นชื่อรองของตน
               คู่สมรสอาจใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นชื่อรองได้เมื่อได้รับความยินยอมของฝ่ายนั้นแล้ว
               มาตรา ๑๖ ผู้มีชื่อตัวหรือชื่อรองอยู่แล้วประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรอง ให้ยื่นคําขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เมื่อนาย ทะเบียนท้องที่เห็นว่าชื่อตัวหรือชื่อรองที่ขอเปลี่ยนใหม่นั้นไม่ขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ ก็ให้อนุญาตและออกหนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อให้