คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๕๖๐/๒๕๖๑ เล่มที่ ๙ หน้า ๑๖๘
               คำขอเอาประกันอุบัติเหตุ มีคำถามว่า ท่านมีหรือได้ขอเอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลหรือประกันชีวิตไว้กับบริษัทอื่นหรือไม่ และมีช่องให้ขีด ไม่มีหรือมีหรือได้ขอ โปรดแจ้งบริษัทแล้วมีช่องว่างให้กรอก หากโจทก์มีความสุจริตใจ เมื่อเขียนชื่อบริษัท ส. ไปแล้วก็ยังสามารถเพิ่มเติมบริษัทอื่นอีกได้ ทั้งที่ได้ทำสัญญาประกันภัยไว้ก่อนถึง ๑๐ บริษัทจำนวนเงินที่เอาประกันขณะนั้น เป็นเงินประมาณ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่ที่โจทก์กลับแจ้งเพียงบริษัทเดียว วงเงินประกันภัย ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นเรื่องที่แตกต่างกันมาก หากจะระบุความจริงให้ครบถ้วนก็ย่อมทำได้เพียงระบุวงเงินที่ได้ทำสัญญาไปแล้ว จึงมิใช่เป็นเหตุที่ไม่อาจระบุความได้
               ป.พ.พ. มาตรา ๘๖๕ ต้องการให้ผู้เอาประกันภัยแถลงและเปิดเผยข้อความจริง ถ้าไม่เปิดเผยข้อความจริงหรือแถลงข้อความอันเท็จไซร้ ซึ่งอาจจะจูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัด ไม่ยอมทำสัญญาแล้ว สัญญาประกันภัยนั้นย่อมเป็นโมฆียะ เมื่อโจทก์ทราบว่า ตนเองนั้นได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับบริษัทต่าง ๆ ถึง ๑๐ บริษัท และ มีวงเงินที่เอาประกันภัยรวมสูงถึง ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แล้ว แต่กลับแจ้งให้จำเลยทราบเพียงบริษัทเดียวในวงเงินเพียง ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งหากโจทก์ได้เปิดเผยข้อความจริงของโจทก์ทั้งหมดก็อาจจะทำให้จำเลยบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาได้ การไม่เปิดเผยความจริงของโจทก์ทั้งหมด จึงเป็นเรื่องที่เป็นสาระสำคัญในการพิจารณาในการรับทำสัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลทั้ง ๒ ฉบับ ที่โจทก์ทำไว้กับจำเลย สัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าว จึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๖๕ เมื่อจำเลยได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๓๒๔๖-๓๒๕๐/๒๕๕๙ สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่ต้องการความสุจริตหรือความไว้วางใจระหว่างคู่สัญญาเป็นสำคัญ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยรับรู้ ขณะที่ ส. ขอทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยทั้งห้า ส. ได้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยรายอื่นอีกนับสิบรายเป็นจำนวนหลายสิบกรมธรรม์ รวมเป็น จำนวนเงินเอาประกันภัยกว่า ๔๗ ล้านบาท ย่อมถือได้ว่า ส. เป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการขอเอาประกันภัยไว้เป็นจำนวนเงินที่สูง โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเหมาะสมกับฐานะหรืออาชีพของ ส. หรือไม่อย่างไร และอาจมีมูลเหตุไปในทางไม่สุจริต การเอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยรายอื่นจึงถือเป็นสาระสำคัญที่ ส. ต้องเปิดเผยข้อความจริงดังกล่าวให้จำเลยทั้งห้าทราบ เพราะอาจจูงใจให้จำเลยทั้งห้าเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่รับประกันภัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้การที่จำเลยทั้งห้ายอมตกลงเข้าทำประกันภัยตามฟ้องกับ ส. จึงเกิดจากความไม่สุจริตของ ส. ที่ไม่เปิดเผยข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญ สัญญาประกันภัยตามฟ้องย่อมตกเป็นโมฆียะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๖๕ วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยทั้งห้าบอกล้างโดยชอบแล้ว สัญญาประกันภัยจึงตกเป็นโมฆะ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๘๖๕ ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่ง อาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
               ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป