คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๘๔๐/๒๕๖๑ 
               ป.วิ.พ. มาตรา ๑ (๔) บัญญัติว่าคำให้การหมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ นอกจากคำแถลงการณ์ เมื่อจำเลยที่ ๑ ให้การรับว่าโจทก์มีเงินฝากกับจำเลยที่ ๑ จริง จึงเป็นข้ออ้างในประเด็นตามคำฟ้องโจทก์ที่จำเลยที่ ๑ ให้การยอมรับ ถือว่าเป็นข้อที่จำเลยที่ ๑ รับแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๘๔ (๓) ประกอบกับ ศ. ทนายความของจำเลยที่ ๑ ก็เบิกความรับว่า โจทก์มีเงินฝากกับจำเลยที่ ๑ จริง นอกจากนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่า จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด ส่วนที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่า มีเพียงจำเลยที่ ๒ และ ส. เท่านั้นที่รู้เรื่องที่โจทก์นำเงินมาฝากจำเลยที่ ๑ ตามที่เบิกความในศาลชั้นต้น ซึ่งถือเป็นข้อต่อสู้ที่กล่าวไว้ในการสืบพยานในศาลชั้นต้นแล้วนั้น ย่อมเป็นการนำสืบนอกประเด็นที่จำเลยที่ ๑ ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ย่อมต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๕๑๑๒/๒๕๖๐ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การรับว่าจำเลยที่ ๒ เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ และไม่ได้ให้การปฏิเสธในข้อที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นแล้ว และไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งถือว่าคู่ความรับกันแล้ว ตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๘๔(๓) ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ และกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ดังนั้น จำเลยที่ ๒ ผู้เป็นนายจ้างจึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๔๒๕
               ฎีกาที่ ๑๙๑๔๔/๒๕๕๖ ข้อที่ว่ากันมาแล้วหรือมิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การ และประเด็นข้อพิพาทในคดีเป็นสำคัญ ไม่ใช่พิจารณาจากข้อเท็จจริงและการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณา ทั้งจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ แม้ข้อเท็จจริงในสำนวนคดีจะกล่าวพาดพิงถึงเรื่องอายุความตามที่จำเลยอ้างมาในฎีกาก็ตาม แต่เมื่อมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น อีกทั้งปัญหาเรื่องอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องคดีแพ่งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               มาตรา ๘๔ การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทำโดยอาศัยพยานหลักฐานในสำนวนคดีนั้น เว้นแต่
               (๑) ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป
               (๒) ข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ หรือ
               (๓) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล
               มาตรา ๒๒๕ ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้ โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย
               ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้น เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้