คำพิพากษาฎีกาที่
๘๖๔๔/๒๕๖๑
จำเลยขอยืมรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปจาก ช.
ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามสัญญาเช่าซื้อ ช. อนุญาตให้จำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปส่ง ส. เป็นการส่งมอบการครอบครองรถจักรยานยนต์ให้จำเลยชั่วคราวจำเลยมีหน้าที่ต้องนำรถจักรยานยนต์ที่ขอยืมไปมาคืน ช. เมื่อจำเลยนำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปจำนำแก่บุคคลภายนอก
ดังนี้เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้เสียหายเป็นของบุคคลอื่นโดยทุจริตขณะที่จำเลยครอบครองทรัพย์นั้น เป็นความผิดฐาน ยักยอกทรัพย์
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ วรรคแรก
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๑๒๘๑๑/๒๕๕๘ กรณีจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาแย่งการครอบครองทรัพย์นั้นโดยทุจริตตั้งแต่ที่เข้าแย่งการครอบครอง
แต่ขณะที่จำเลยยืม
คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กจากผู้เสียหาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาจะเอาไปในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ตั้งแต่แรก จำเลยยังคงพักอยู่ที่โรงแรมตรงข้ามอู่ซ่อมรถของผู้เสียหาย เหตุที่จำเลยหลบหนีออกจากโรงแรมโดยนำคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไปด้วย
เพราะไม่ต้องการชำระค่าซ่อมรถที่จำเลยค้างชำระผู้เสียหาย
จึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองเป็นของจำเลยโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอก
ฎีกาที่ ๓๒๕๔/๒๕๕๒ จำเลยยักยอกรถที่เช่าซื้อขณะอยู่ในความครอบครองใช้ประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ
ผู้เช่าซื้อจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยโดยตรง ดังนั้น แม้ผู้เช่าซื้อจะแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานยักยอกในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อก็ตาม
ก็ถือได้ว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะเป็นผู้เสียหายเองด้วย เช่นกัน ผู้เช่าซื้อย่อมมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ในฐานะที่เป็นผู้เสียหายด้วยคนหนึ่งได้
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๕๒
ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง
0 Comments
แสดงความคิดเห็น