คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๘๘๒/๒๕๖๑
การกระทำโดยบันดาลโทสะตาม
ป.อ. มาตรา ๗๒ เป็นกรณีที่ผู้กระทำถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
จึงกระทำต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ส่วนการกระทำโดยพลาดตาม ป.อ. มาตรา ๖๐ เป็นกรณีที่ผู้กระทำเจตนากระทำต่อบุคคลคนหนึ่งแต่ผลของการกระทำเกิดแก่
อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป สำหรับการกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
ผู้กระทำต้องเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นแล้วว่า จะทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับผลนั้น
ซึ่งเป็นผลที่เห็นได้ชัดว่า จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ผู้เสียหายที่ ๑
กับพวกขับรถจักรยานยนต์เที่ยวเล่นตั้งแต่เวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกา โดย พ.
นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ ๑ ส่วน ข. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ท.
ไม่ปรากฏว่า ผู้ตายทั้งสองได้ร่วมทำร้ายหรือมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า
มีเจตนาที่ร่วมกับผู้เสียหายที่ ๑ กับพวกทำร้ายจำเลย แม้ผู้ตายทั้งสองจะอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพื่อให้ผู้เสียหายที่
๑ กับพวก เกิดความฮึกเหิมรุมทำร้ายจำเลยกับพวก หลังเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองไปกับผู้เสียหายที่
๑ กับพวกก็คงเป็นเพราะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน พฤติการณ์ของผู้ตายทั้งสองฟังไม่ได้ว่า
ผู้ตายทั้งสองข่มเหงหรือร่วมกับผู้เสียหายที่ ๑ กับพวกข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
การที่จำเลยขับรถกระบะซึ่งมีขนาดใหญ่และมีแรงประทะมากกว่ารถจักรยานยนต์หลายเท่าฝ่าเข้าไปหรือพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่
๑ กับพวกโดยแรง แม้กระทำเพียงครั้งเดียวก็เห็นได้ว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า
ทั้งคนขับและคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกชนจะถึงแก่ความตายได้จึงถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ตายทั้งสองโดยตรง
ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเจตนาที่จะกระทำต่อกลุ่มคนที่รุมทำร้ายจำเลย แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ผู้ตายทั้งสองโดยพลาดไป
เมื่อผู้ตายทั้งสองมิได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำความผิดต่อผู้ตายทั้งสองจึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้
เพิ่มเติม
ฎีกาที่
๕๓๓๒/๒๕๖๐ จำเลยใช้ถุงพลาสติกซึ่งไม่มีช่องอากาศครอบศีรษะผู้ตาย
แล้วใช้เทปกาวพันรอบบริเวณลำคอผู้ตาย
แม้จำเลยมิได้ประสงค์จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย
แต่จำเลยก็ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจ
และถึงแก่ความตายได้ จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายแล้ว เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย
จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
ฎีกาที่
๒๑๓๗๙/๒๕๕๖ การที่จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ไล่ทำร้ายผู้ตายกับพวกในระยะกระชั้นชิดโดยถือไม้ถูพื้นชูออกนอกรถยนต์เพื่อข่มขู่ผู้ตายกับพวกไปตลอดทาง
โดยมีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายกับพวก และผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ตายต้องขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงเพื่อหลบหนีการถูกไล่ทำร้ายจนเกิดเหตุชนกับรถยนต์กระบะที่จอดอยู่
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ย่อมมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม
ป.อ. มาตรา ๒๙๐
ฎีกาที่
๙๘๐๕/๒๕๕๔ การกระทำโดยเล็งเห็นผลนั้นหมายความว่า
ผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้
มิใช่เพียงเล็งเห็นว่าผลนั้นอาจเกิดขึ้นได้ ได้ความว่าจำเลยที่
๒ ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ ๑ นั่งซ้อนท้าย ขณะที่รถจักรยานยนต์ของจำเลยทั้งสองประกบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย
จำเลยที่ ๑ กระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายที่แขวนอยู่ที่กระจกรถจักรยานยนต์อย่างแรง
ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงและผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยทั้งสองไม่อาจเล็งเห็นผลได้แน่นอนว่าการกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่
๑ จะทำให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับล้มลงเพราะรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายอาจจะล้มหรือไม่ล้มก็ได้
การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงวิธีการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น
แม้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจะล้มลงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายอันเป็นผลมาจากแรงกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่
๑ ก็หาใช่จำเลยทั้งสองกระทำโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลอันถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามความหมายของกฎหมายแต่
ประการใดไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามฟ้อง
คงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดเท่านั้น
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๕๙
บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท
ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท
หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
กระทำโดยเจตนา
ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล
หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด
จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
กระทำโดยประมาท
ได้แก่กระทำความผิดมิใช้โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์
และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
การกระทำ
ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
0 Comments
แสดงความคิดเห็น