คำพิพากษาฎีกาที่
๘๑๓๕/๒๕๖๑
คดีแพ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์โดยศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้วฟังข้อเท็จจริงเชื่อว่าลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในสำเนาหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย
ย่อมมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง โดยโจทก์จำเลยไม่อาจซื้อร้องฟ้องกันในประเด็นเดียวกันอีก
การที่โจทก์กลับนำมูลคดีเดียวกันมาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันเป็นคดีอาญาอีกกล่าวหาว่าที่จำเลยเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงในคดีแพ่งนั้นว่าลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในสำเนาหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยเป็นคำเบิกความอันเป็นเท็จเป็นการรื้อร้องฟ้องกันในมูลคดีเรื่องเดียวกันนั้นอีก
ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง
ตามฎีกานี้ โจทก์ฟ้องจำเลย
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๖๙๔๗/๒๕๖๐ ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่
๗๕๕/๒๕๕๖ พิพากษายกฟ้อง โดยอาศัยข้อเท็จจริงในคำพิพากษาอาญาคดีหมายเลขแดงที่
๘๓๖๘/๒๕๕๕ ว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คดีแพ่งถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมายเลขแดงที่
๘๙๓๘/๒๕๕๘ คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตาม
ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่อาจฎีกาว่าโต้แย้งคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถึงที่สุดแล้วและมีผลผูกพันตนเองได้อีก
ฎีกาที่ ๕๘๖๐/๒๕๕๔ โจทก์เคยฟ้องขอให้บังคับจำเลยกับ
ม. ร่วมกันชำระหนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์
โดยเชื่อว่าสัญญากู้ที่จำเลยทำไว้แก่โจทก์ในคดีดังกล่าวเป็นเอกสารที่โจทก์ทำปลอมขึ้น
ผลแห่งคำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง
โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยกับ ม. รับผิดต่อโจทก์ได้ แม้จะได้ความว่าจำเลยปลอมสัญญาค้ำประกันอันเป็นเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม
ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา
๒(๔) ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา ๒๘(๒) ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
แม้จำเลยไม่ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕
วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๔๕
ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกา และการพิจารณาใหม่
คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ
ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง
จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย
ถ้าหากมี
ถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่บุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลด้วยก็ดี
คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๒
(๑) มาตรา ๒๔๕ และมาตรา ๓๖๖ และในข้อต่อไปนี้
(๑) คำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะหรือความสามารถของบุคคล
หรือคำพิพากษาสั่งให้เลิกนิติบุคคล หรือคำสั่งเรื่องล้มละลายเหล่านี้
บุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิงหรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้
(๒) คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด
ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้
เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า
0 Comments
แสดงความคิดเห็น