คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๒/๒๕๖๒ 
               การแต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยาของ จ. กับ อ. เป็นการอยู่กินกัน โดยมิได้จดทะเบียนสมรส อ. จึงมิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ จ. ต่อมาภายหลังได้แยกกันอยู่โดยการใช้ชีวิตประจำวันของ อ. อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วน จ. ประกอบธุรกิจและพักอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร การที่โจทก์อ้างว่าที่ดินและหุ้นพิพาทของ จ. เป็นทรัพย์สินที่ อ. ทำมาหาได้ ร่วมกันกับ จ. โดยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างสามีภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ต้องได้ความว่า สามีภริยาต่างมีส่วนร่วมกันในการทำมาหาได้ในทรัพย์สินนั้นด้วยกัน หาใช่ว่าทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ถือว่าสามีภริยาต่างมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นคนละครึ่งหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากเรื่องของสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะกฎหมายบัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินอันสามีภริยาได้มาระหว่างสมรสว่าเป็นสินสมรส โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้ให้เห็นการมีส่วนร่วมในการทำมาหาได้ ของ อ. ด้วย

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๖๒๐/๒๕๔๓  ฉ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ช. โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้ร่วมกันทำมาหากินโดยการปล่อยเงินกู้ ซื้อขายที่ดินและเป็นนายหน้าขายที่ดิน เงินในบัญชีเงินฝาก ประจาเป็นทรัพย์สินที่ ช. และ ฉ. ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา ช. และ ฉ. จึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเงินดังกล่าวและต้องแบ่งให้คนละเท่า ๆ กัน โดยเป็นทรัพย์มรดกของ ช. กึ่งหนึ่ง และเป็นทรัพย์มรดกของ ฉ. กึ่งหนึ่ง
                    ฎีกาที่ ๑๒๔๒/๒๕๔๒ เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทรวมกับโจทก์ที่ปลูกอยู่บนที่ดิน ๒ แปลง ซึ่งมีรั้วล้อมรอบที่ดินโดยที่ดินแปลงหนึ่งจำเลยได้รับการยกให้จากมารดา อีกแปลงหนึ่งคือที่ดินพิพาท ซึ่งโจทก์ได้รับยกให้จากน้องชายจำเลยโดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้โจทก์ยอมรับบุตรของน้องชายจำเลยเป็นบุตรของโจทก์ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแม้โจทก์จะมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวก็ตาม แต่โจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาในระหว่างที่อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยโดยได้รับการยกให้จากน้องชายจำเลยด้วยความสัมพันธ์และข้อแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลในครอบครัว ทั้งสองฝ่ายได้ครอบครองร่วมกันมาระหว่างอยู่กินด้วยกัน ถือว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โจทก์จำเลยจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกันคนละครึ่ง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๓๕๗ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน