คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๖๕๐/๒๕๖๑ เล่มที่ ๑๐ หน้า ๑๗๔
จำเลยขับรถไล่ตามรถของผู้เสียหายที่ ๑
ในระยะกระชั้นชิดแล้วใช้อาวุธปืน ซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงสามารถทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ยิงใส่รถของผู้เสียหายที่
๑ ซึ่งอยู่ด้านหน้า ๓ นัด ในขณะที่ผู้เสียหายทั้งสองนั่งอยู่ในห้องโดยสาร จำเลยย่อมเล็งเห็นหรือคาดหมายได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกบุคคลที่นั่งอยู่ในรถของผู้เสียหายที่
๑ ถึงแก่ความตายได้ ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง เมื่อจำเลยลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้ว
แต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากกระสุนปืนที่ยิงไม่ถูกผู้เสียหายทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
ตามฎีกานี้
กระสุนปืนถูกบริเวณกระบะท้ายรถ ๒ รอย ซึ่งจากตำแหน่งของรอยกระสุนปืนทั้งสองรอยอยู่ในระนาบเดียวกับกับห้องโดยสาร
ลักษณะของการยิงเป็นการมุ่งยิงไปที่บริเวณห้องโดยสาร
เพิ่มเติม
ฎีกาที่
๕๕๐๕/๒๕๕๙ การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งมีสภาพร้ายแรงยิงเข้าไปที่ขอบหน้าต่างด้านบนของห้องของบ้านเกิดเหตุ
โดยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเมื่อกระสุนปืนกระทบขอบหน้าต่างแล้วจะหักเหไปในทิศทางใด
จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจแฉลบไปถูกผู้ที่อยู่ภายในห้องถึงแก่ชีวิตได้
จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๕๙
บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท
ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท
หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
กระทำโดยเจตนา
ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล
หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด
จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
กระทำโดยประมาท
ได้แก่กระทำความผิดมิใช้โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์
และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
การกระทำ
ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
0 Comments
แสดงความคิดเห็น