คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๙๐๕/๒๕๖๑ (ประชุมใหญ่) 
               โจทก์ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาฉ้อโกงก่อนที่จำเลยโอนที่ดินให้แก่บุตรของจำเลย ย่อมนำไปสู่การยื่นฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ รวมถึงการเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ต้องสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดแทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๓ โดยโจทก์จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามมาตรา ๓๐ หรือไม่ก็ได้ การร้องทุกข์ของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว การที่จำเลยโอนที่ดินให้แก่บุตรโดยรู้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ จึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๕๐
              
เพิ่มเติม
               คำว่า “จะใช้” หมายถึงจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แต่ยังไม่ได้ฟ้องร้องต่อศาล เช่น มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้(ฎีกาที่ ๘๒๙/๒๔๘๓) เป็นต้น
               ฎีกาที่ ๑๐๑๗๙/๒๕๕๗ จำเลยที่ ๑ มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ไถ่ถอนทรัพย์จำนองและขายให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยจงใจกำหนดราคาขายพอดีกับราคาไถ่ถอนจำนอง เพื่อไม่ให้มีเงินส่วนเกินราคาขายตกแก่จำเลยที่ ๑ การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงเป็นการร่วมกันเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ ๑ ได้รับชำระหนี้บางส่วน มีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๓๕๐ ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ