คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๖๙/๒๕๖๒ 
               ข้อสัญญาที่มิได้มีวัตถุประสงค์ให้เป็นทางเลือกแก่ผู้ฟ้องคดี แต่เป็นข้อสัญญาที่มุ่งประสงค์เพื่อให้ทนายความเข้ามีส่วนได้เสียในทางการเงินโดยตรงในผลของคดีและอาจก่อให้เกิดการฟ้องร้องคดีโดยไม่จำเป็น แตกต่างจากข้อสัญญาที่เรียกเก็บค่าทนายความตามทุนทรัพย์ของคดี ซึ่งทนายความจะได้รับค่าจ้างในการทำงานโดยไม่เกี่ยวกับผลของคดีโดยสิ้นเชิง ข้อสัญญาที่กำหนดค่าทนายความโดยมุ่งเฉพาะผลสำเร็จของงานจึงไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพของทนายความ ย่อมถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยชำระค่าว่าความตามข้อสัญญาได้

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๑๐๖๕๔/๒๕๕๕ โจทก์จำเลยตกลงกันให้จ่ายค่าจ้างว่าความในอัตราร้อยละ ๑๐ ของจำนวนทุนทรัพย์ตามฟ้อง เป็นเพียงการกำหนดกฎเกณฑ์ในการคำนวณค่าจ้างว่าความให้คิดเป็นจำนวนร้อยละเท่าใดของทุนทรัพย์ที่ฟ้องซึ่งเป็นจำนวนแน่นอน หาใช่เป็นสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทที่ลูกความจะได้รับเมื่อชนะคดีไม่ สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐
               ฎีกาที่ ๘๑๐/๒๕๕๔ การที่จำเลยทั้งสามทำบันทึกคำมั่นจะให้รางวัลแก่โจทก์อีกร้อยละ ๕ ของเงินส่วนที่จำเลยทั้งสามได้รับเกินกว่า ๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่า ค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยทั้งสามขึ้นอยู่กับว่าจำเลยทั้งสามจะได้รับทรัพย์มรดกเกินกว่า ๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทหรือไม่ หากจำเลยทั้งสามไม่ได้รับทรัพย์มรดกหรือได้รับไม่เกินกว่า ๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์จึงจะไม่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมจากจำเลยทั้งสาม ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียทางทรัพย์สินในผลแห่งคดีของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกความ แม้ไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย แต่เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อหลักจริยธรรม แห่งวิชาชีพทนายความ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยทั้งสามจะไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้โดยชัดแจ้ง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒(๕)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๕๐ การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ