คำพิพากษาฎีกาที่
๓๐๖๒-๓๐๖๓/๒๕๖๒
จำเลยทั้งสองซึ่งออกเช็คพิพาทนำเงินจำนวนตามเช็คมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วม
โดยทนายโจทก์ร่วมเพียงแต่แถลงว่ายังไม่ประสงค์จะรับเงินเพื่อบรรเทาความเสียหายและติดใจให้ศาลพิพากษาคดีต่อไป
มิได้คัดค้านว่าหนี้ที่ออกเช็คพิพาทยังไม่ระงับ ไปเพราะเหตุจำเลยทั้งสองมิได้ชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด
ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คดีจึงเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๗ สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๓๙ (๓)
เมื่อคดีเลิกกันสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปมีผลทำให้คำพิพากษาศาลล่างไม่อาจบังคับใช้ได้ต่อไป
จึงต้องคืนค่าปรับที่จำเลยที่ ๒ ชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค
๔ ให้แก่จำเลยที่ ๒
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๕๒๔๐/๒๕๕๓ ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีข้อความว่า จำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวนเต็มตามฟ้องโดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนจนกว่าจะครบถ้วนให้เสร็จสิ้นภายใน
๓ ปี หากโจทก์ได้รับชำระครบถ้วนแล้ว
โจทก์จะถอนฟ้องคดีนั้น เป็นข้อตกลงในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น และตามข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที
จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไปแล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้
จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด
เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์
และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา ๗ คดีจึงไม่เลิกกัน
สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตาม
ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๒)
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
พ.ศ.๒๕๓๔
มาตรา ๗ ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๔
ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น
หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๔
ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
0 Comments
แสดงความคิดเห็น