คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๔๒/๒๕๖๒
แม้โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนทางราชการประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน
แต่ต่อมาบริเวณที่ดินพิพาทถูกกำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนควบของที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๓๖ ทวิ ซึ่งมาตรา
๑๙ (๑๗) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท
ดังนั้นแม้โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทเป็นเวลานานต่อเนื่องจากย่าและบิดาโจทก์ซึ่งครอบครองมาก่อนทางราชการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดินการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์
ก็เป็นการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาฟ้องจำเลยทั้งสอง
โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
เพิ่มเติม
ฎีกาที่
๘๙๒๑/๒๕๕๘ ที่ดินที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธินั้นเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน
ที่ดินรวมทั้งต้นยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๓๖ ทวิ ซึ่งตาม มาตรา ๑๙
(๗) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับ
ผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ดังนี้ บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินได้
ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน
ฉะนั้น แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เข้าอยู่ในที่ดินดังกล่าว
โจทก์จึงไม่อาจอาศัยแสวงสิทธิจากที่ดินพิพาทได้ การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงหาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ไม่
โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีหาใช่เป็นการสนับสนุนให้จำเลยทั้งหกกระทำละเมิดอันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ไม่
พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
พ.ศ.๒๕๑๘
มาตรา
๑๙ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย มาตรการ
ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานการปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก. ตลอดจนการควบคุมการบริหารงานของ
ส.ป.ก. รวมทั้งอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
(๗) กำหนดหลักเกณฑ์
วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร
ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ตลอดจนแบบสัญญาเช่าและเช่าซื้อที่จะทำกับเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน
มาตรา
๓๖ ทวิ บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้
หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ และให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินมีอำนาจออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเกี่ยวกับที่ดินของ
ส.ป.ก. ตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามที่ ส.ป.ก. ร้องขอ
0 Comments
แสดงความคิดเห็น