1. คำให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์
               1. จำเลยต้องให้การว่าที่ดินไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นของจำเลย
               2. จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ที่ดินเป็นของผู้อื่น ไม่ได้ต่อสู้ว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของจำเลย ถือว่า ไม่ได้ต่อสู้กรรมสิทธิ์ (ฎีกาที่ 1054/2509)
               3. จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การถือว่าไม่ได้ต่อสู้กรรมสิทธิ์ (ฎีกาที่ 1843/2537)
               4. จำเลยอ้างว่าซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมแล้ว แต่ยังไม่ได้โอนที่ดิน ถือไม่ได้ว่าต่อสู้ กรรมสิทธิ์ (ฎีกาที่ 2331/2540)
               คดีฟ้องขับไล่จำเลย แต่จำเลยต่อสู้กรรมสิทธิ์ ย่อมทำให้คดีฟ้องขับไล่กลายเป็นคดีฟ้องเรียกกรรมสิทธิ์ได้และถือว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์

2. ฟ้องเรียกให้ส่งหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดิน เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เช่น
               1. ฟ้องเรียกโฉนดที่ดิน (ฎีกาที่ 1593/2521, 8676/2544)
               2. ฟ้องเรียกใบจอง (ฎีกาที่ 8752/2556)
               แม้จำเลยจะต่อสู้ว่าได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินแล้ว ก็ไม่ทำให้กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์

3. ป.วิ.พ. มาตรา 138
               สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม
               การประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลจะพิพากษาตามยอมได้ ศาลจะต้องมีคำสั่งรับฟ้องคดีนั้นแล้ว(ฎีกาที่ 2994/2543)
               การตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันตามกฎหมายต้องเป็นการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยไม่ได้มีการถอนคำฟ้อง(ฎีกาที่ 725/2536)

4. ฟ้องเคลือบคลุม
               หมายถึง ฟ้องที่แสดงข้อเท็จจริงไม่ชัดแจ้งพอที่ จะเข้าใจในเนื้อหา หรือคำฟ้องมีเนื้อหาในข้อเท็จจริงเคลือบคลุมและชัดแจ้งได้ ทำให้จำเลยไม่เข้าใจ ไม่สามารถต่อสู้คดีปฏิเสธฟ้องได้ เช่น
               1. คำฟ้องของโจทก์ตลอดจนเอกสารท้ายฟ้องทุกฉบับไม่ปรากฏข้อความใดที่ระบุว่าโจทก์และบุตรทั้งสามของโจทก์เกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับผู้ตายในฐานะใด อันมีผลทำให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรทั้งสามได้โดยชอบด้วยกฎหมาย(ฎีกาที่ 2874/2550)
               2. หนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงให้เห็นว่ามีการแสดงเจตนาของจำเลยที่ยอมรับว่าเป็นหนี้เดิมค่าอะไร การรับสภาพหนี้ หากไม่มีมูลหนี้เดิมต่อกันแล้วจะมีการรับสภาพหนี้ไม่ได้ การที่โจทก์จะฟ้องร้องจึงต้องอาศัยมูลหนี้เดิมที่แสดงโดยชัดแจ้ง แต่ตามคำฟ้องโจทก์ไม่บรรยายความเป็นมาแห่งมูลหนี้เดิมจำเลยย่อมไม่เข้าใจคำฟ้องโจทก์ได้(ฎีกาที่ 8059/2556)

อ้างอิง รวมคำบรรยายเนติบัณฑิต ภาคสอง ปีการศึกษา 2562