คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๓๗๙/๒๕๖๒ 

               โจทก์มอบให้จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งอธิบดีกรมที่ดินอนุญาตให้กรมส่งเสริมสหกรณ์นำไปจัดสรรให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ แต่ยังมิได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.๒๕๑๑ อันเป็นที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์แทนโจทก์เป็นเวลานานตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ จนจำเลยแจ้งต่อหน่วยราชการว่าเป็นผู้ถือครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองและนำที่ดินพิพาทไปแบ่งขายตั้งแต่ ปี ๒๕๕๒ ถึงปี ๒๕๕๖ ให้แก่ผู้ร้องที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ที่ ๗ ที่ ๙ ถึงที่ ๑๒ และผู้มีชื่อ จากนั้นผู้ร้องที่ ๑๒ และผู้ร้องที่ ๑ แบ่งขายที่ดินพิพาทให้ ผู้ร้องที่ ๖ และที่ ๘ ตามลำดับ และผู้ร้องที่ ๓ ที่ ๑๔ และที่ ๑๕ ซื้อที่ดินต่อจากผู้มีชื่อโดยโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้าน การกระทำของโจทก์จึงเป็นเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยผู้เป็นตัวแทนทำการออกนอก หน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์หาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของผู้ร้องที่ ๑ ถึงที่ ๑๒ ที่ ๑๔ และที่ ๑๕ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนของโจทก์และได้ขวนขวายได้สิทธิ์มาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ได้ไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๐๖ เมื่อผู้ร้องที่ ๑ ถึงที่ ๑๒ ที่ ๑๔ และที่ ๑๕ ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยมีเจตนายึดถือเพื่อตน ผู้ร้องที่ ๑ ถึงที่ ๑๒ ที่ ๑๔ และ ๑๕ จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและสามารถอ้างอำนาจพิเศษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๖ จัตวา (๓) (เดิม) มาใช้ยันโจทก์ได้ ผู้ร้องที่ ๑ ถึงที่ ๑๒ ที่ ๑๔ และที่ ๑๕ จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นบริวารของจำเลย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               มาตรา ๓๕๓ ในกรณีตามมาตรา ๓๕๑ (๒) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติดังต่อไปนี้      (๑) รายงานต่อศาลเพื่อมีคำสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวาร และให้ศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังได้ทันที ในกรณีเช่นว่านี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๖๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               (๒) ปิดประกาศให้บุคคลที่อยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้นซึ่งอ้างว่ามิได้เป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันปิดประกาศแสดงว่าตนมีอำนาจพิเศษในการอยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้น
               เมื่อมีการจับกุมลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารตาม (๑) แล้ว หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวหลบหนีไปจากทรัพย์นั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา ๓๕๒