คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๑๑๔/๒๕๖๒
               ก่อนการกำหนดประเด็นข้อพิพาทมีข้อเท็จจริงปรากฏจากคำร้องขอถอนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาของโจทก์ทั้งห้าและรายงานกระบวนพิจารณาในวันไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาว่าโจทก์ทั้งห้าเพิ่งทราบจากการตรวจเอกสารว่าจำเลยโอนที่ดินมรดกของผู้ตายที่ถูกเวนคืนให้แก่กรมทางหลวงไปแล้ว พฤติการณ์ในการโอนที่ดินเกิดจากการกระทำของจำเลยซึ่งอยู่นอกเหนือการรู้เห็นของโจทก์ทั้งห้าทั้งเกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ยื่นคำฟ้องแล้ว การที่ฟ้องของโจทก์ทั้งห้าไม่ถูกต้องครบถ้วนและ คำขอบังคับของโจทก์ทั้งห้าในส่วนนี้ไม่อาจบังคับได้ไม่ใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้าขอถอนฟ้องโดยระบุเหตุผลขอถอนฟ้อง เนื่องจากฟ้องของโจทก์ทั้งห้าไม่ถูกต้องครบถ้วนเพื่อดำเนินการยื่นฟ้องจำเลยใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๖ ก็ไม่ได้ห้ามโจทก์ที่ถอนฟ้องยื่นฟ้องใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ และมาตรา ๑๗๕ ก็ไม่ได้ห้ามโจทก์ถอนฟ้องหลังจากชี้สองสถาน ศาลไม่อาจนำข้อกฎหมายเรื่องกำหนดเวลาในการขอแก้ไขคำฟ้องซึ่งต้องขอก่อนการชี้สองสถานตามมาตรา ๑๘๐ และการที่ถอนคำฟ้องเพื่อไปแก้ไขข้อบกพร่องแล้วยื่นฟ้องจำเลยเข้ามาเป็นคดีใหม่มาเป็นเงื่อนไขในการสั่งคำร้องขอถอนฟ้องได้ ทั้งคดีนี้ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้มีการนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้อีกฝ่ายเห็นข้อเท็จจริงที่เป็นการสนับสนุนข้ออ้างตามคำฟ้องและข้อเถียงตามคำให้การของฝ่ายตนแต่อย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าการถอนฟ้องของโจทก์ทั้งห้า เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าถอนฟ้องเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๘๘๐๔/๒๕๕๙ บทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๕ ระบุว่า หากโจทก์ถอนฟ้องภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยก่อนเท่านั้น ไม่มีข้อห้ามว่า หากจำเลยคัดค้าน ศาลจะอนุญาตให้ถอนฟ้องไม่ได้ กรณีเป็นดุลพินิจของศาลที่ต้องพิจารณาถึงผลได้ผลเสียของคู่ความทุกฝ่าย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               มาตรา ๑๗๕ ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์อาจถอนคำฟ้องได้โดยยื่นคำบอกกล่าวเป็น หนังสือต่อศาล ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล ชั้นต้น เพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายใน เงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่
               (๑) ห้ามไม่ให้ศาลให้อนุญาต โดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมีก่อน
               (๒) ในกรณีที่โจทก์ถอนคำฟ้อง เนื่องจากมีข้อตกลงหรือประนีประนอมยอมความกับ จำเลย ให้ศาลอนุญาตไปตามคำขอนั้น
               มาตรา ๑๗๖ การทิ้งคำฟ้องหรือถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้ง กระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะ เดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย แต่ว่าคำฟ้องใด ๆ ที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้ว อาจยื่นใหม่ได้ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
               มาตรา ๑๘๐ การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้ว ให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้น แต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย