คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๒๘๕/๒๕๕๗

               ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘ คำว่า “เหตุสุดวิสัย”  หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ว่า เหตุที่จะถือได้ว่า เป็นเหตุสุดวิสัยนั้นต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของบุคคลผู้นั้น และต้องเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้แม้บุคคลผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว

 

เพิ่มเติม

Ø ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้มอบหมายให้ตัวแทนนำเงินไปไปชำระแก่กรมบังคับคดี ปรากฏว่าตัวแทนนั้นยักยอกเงินไป ดังนี้เป็นเหตุสุดวิสัย ดูฎีกาที่ ๑๐๒๘๕/๒๕๕๗

               ฎีกาที่ ๑๐๒๘๕/๒๕๕๗ การที่ ธ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ซื้อทรัพย์ให้นำเงิน ๕๕๐,๐๐๐ บาท ไปชาระต่อกรมบังคับคดีแล้วกลับยักยอกเงินไปเป็นของตนเองโดยทุจริต ผู้ซื้อทรัพย์คงไม่อาจทราบได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ถือได้ว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย เมื่อเหตุแห่งการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อทรัพย์ และเป็นเหตุที่ผู้ซื้อ ทรัพย์ไม่อาจคาดหมายได้ ผู้ซื้อทรัพย์จึงอ้างเหตุสุดวิสัยดังกล่าวเพื่อขอขยายระยะเวลาการวางเงินส่วนที่เหลือได้

§  ผู้ลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ จะอ้างปัญหาด้านการเงินในการลงทุนทางธุรกิจ หรือวิกฤตเศรษฐกิจ ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย หาได้ไม่ ดูฎีกาที่ ๘๔๒-๘๔๓๔/๒๕๕๓, ๕๕๖๔/๒๕๕๑

               ฎีกาที่ ๘๔๒-๘๔๓๔/๒๕๕๓ การที่จำเลยจัดสรรที่ดินและได้ประกาศขายที่ดินแปลงย่อยพร้อมบ้านพักอาศัยแก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้บริโภคทั้งสิบห้าโดยที่มิได้ตระเตรียมเงินลงทุนไว้ให้พร้อมเสียก่อนเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับเงินลงทุน ซึ่งสถาบันการเงินระงับการให้กู้ในระหว่างนั้นเป็นเหตุให้การดำเนินการปลูกสร้างบ้านพักอาศัยหยุดชะงักลง จึงเป็นความผิดของจำเลยที่ไม่เตรียมการป้องกันไว้ก่อนทั้งๆ ที่สามารถกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิด

               ฎีกาที่ ๕๕๖๔/๒๕๕๑ จำเลยเป็นผู้ลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่นำมาจัดสรรขายให้แก่ประชาชนโดยคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง ซึ่งก็ต้องใช้เงินลงทุนสูงด้วย จึงต้องมีการ วางแผนอย่างรัดกุมในเรื่องการเงิน การตลาด รวมทั้งการคาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถรับความเสี่ยงได้สูง แม้จะเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาลจะมีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจทั่วไป รวมทั้งของจำเลยด้วยก็ตาม แต่ก็มิใช่ภาวะที่จำเลยไม่อาจคาดการณ์ได้ หรือไม่อาจแก้ไขได้ ดังนั้น การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านไม่เสร็จจึงไม่อาจฟังได้ว่าเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้บริโภคชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้

v ในธุรกิจการค้า จะอ้างเหตุว่าประสบปัญหาขาดทุนทางธุรกิจ เป็นเหตุสุดวิสัย หาได้ไม่ ดูฎีกาที่ ๑๖๗๘/๒๕๔๖

               ฎีกาที่ ๑๖๗๘/๒๕๔๖ จำเลยซื้อผ้าไปจากโจทก์ การที่จำเลยไม่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้เพราะผู้ซื้อผ้าจากจำเลยอีกทอดหนึ่งมีปัญหาทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่จำเลย เป็นเรื่องการประกอบธุรกิจการค้า ซึ่งการประสบปัญหากำไรหรือขาดทุนเป็นปกติทางการค้าย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๑๙ วรรคหนึ่ง

ü จำเลยมีหน้าที่จัดส่งสินค้านำเข้า จะอ้างว่า ผู้ผลิตสินค้าในต่างประเทศไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกสินค้า เป็นเหตุสุดวิสัย หาได้ไม่ ดู ฎีกาที่ ๗๕๗๑/๒๕๕๒

               ฎีกาที่ ๗๕๗๑/๒๕๕๒ โจทก์ทำสัญญาซื้อเครื่องส่งวิทยุแฝงในแบตเตอรี่โทรศัพท์เคลื่อนที่จากจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่จัดหาสินค้าดังกล่าวตามสัญญาส่งมอบให้แก่โจทก์ การที่บริษัท ด. ผู้ผลิตสินค้าไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้ส่งออกสินค้า จึงเป็นความผิดของจำเลย หาใช่เหตุสุดวิสัยไม่ ทั้งมิใช่การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ และทำให้จำเลยเป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๑๙ วรรคหนึ่ง

o   ผู้ควบคุมยานพาหนะ ต้องตรวจสอบสภาพรถให้ใช้การได้ดี เมื่อเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากลูกปืนล้อรถด้านขวาแตก ทำให้รถเสียการทรงตัวและชนถูกรถผู้อื่น ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย หาได้ไม่ ดูฎีกาที่ ๖๒๓๕/๒๕๕๑

               ฎีกาที่ ๖๒๓๕/๒๕๕๑ การที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่าลูกปืนล้อรถพ่วงด้านขวาแตกเป็นเหตุให้ล้อรถพ่วงหลุด รถยนต์บรรทุกจึงเสียการทรงตัวและชนถูกรถยนต์คันที่เอาประกันภัยกับโจทก์ไว้นั้น กรณียังไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเพราะผู้ใช้งานรถต้องตรวจตราอุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวรถซึ่งย่อมมีทั้งอุปกรณ์ที่อยู่ภายนอกและภายใน อุปกรณ์บางชิ้นตรวจสอบได้ด้วยสายตา บางชิ้นเสื่อมสลายไปตามสภาพการใช้งาน ซึ่งล้วนแต่ต้องตรวจตราจากผู้ใช้งานทั้งสิ้นไม่ว่าจะตรวจสอบเองในฐานะที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือโดยผู้อื่นที่มีหน้าที่ก็ตาม จำเลยที่ ๑ จะอ้างว่าลูกปืนล้อรถ เป็นอุปกรณ์ที่อยู่ภายใน ไม่ใช่หน้าที่ตรวจสอบของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเพียงผู้ขับเท่านั้นไม่ได้