ฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๙๑๕/๒๕๖๒ 

               ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนใหญ่ได้กรรมสิทธิ์มาทางมรดกและบางส่วนได้มาโดยการซื้อ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวถือไม่ได้ว่าวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมในที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร ในระหว่างเจ้าของรวมก็ไม่ปรากฏว่าได้ร่วมกันทำนิติกรรมห้ามมิให้แบ่งที่ดินแต่อย่างใด โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิเรียกขอให้แบ่งที่ดินได้

               ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๓ กำหนดเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินโดยมิได้บังคับให้เจ้าของรวมผู้ประสงค์จะแบ่งทรัพย์สินต้องฟ้องเจ้าของรวมทุกคนโจทก์จึงหาจำต้องฟ้องเจ้าของรวมในที่ดินทุกคนไม่

               จากคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ไม่สามารถติดตามจำเลยทั้งสิบมาเพื่อ ดำเนินการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้ อีกทั้งเจ้าของรวมบางคนก็ถึงแก่ความตายไปแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นทายาท และไม่ปรากฏว่าโฉนดที่ดินอยู่ที่ผู้ใดนั้น ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวก็หาใช่เป็นกรณีของการเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๓ วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินได้

               โจทก์ขอให้แบ่งที่ดินส่วนที่โจทก์อ้างว่าได้ครอบครองเป็นส่วนสัดคิดเป็นเนื้อที่ ๙๑ ตารางวา ให้แก่โจทก์ โจทก์นำมาสืบยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ครอบครองส่วนไหนของที่ดินโฉนดอย่างเป็นส่วนสัดตามที่กล่าวอ้าง  จึงเห็นสมควรให้แบ่งที่ดินตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๔

              

               ตามฎีกานี้ ปรากฏตามคำฟ้องว่า โฉนดที่ดินพิพาทมีชื่อ โจทก์ จำเลยทั้งสิบ และบุคคลมีชื่ออีก ๔ คน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๑๓๖๓ เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้

               สิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินนั้น ท่านว่าจะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้

               ท่านว่าเจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้

               มาตรา ๑๓๖๔ การแบ่งทรัพย์สินพึงกระทำโดยแบ่งทรัพย์สินนั้นเองระหว่างเจ้าของรวม หรือโดยขายทรัพย์สินแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน

               ถ้าเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไรไซร้ เมื่อเจ้าของรวมคนหนึ่งคนใดขอ ศาลอาจสั่งให้เอาทรัพย์สินนั้นออกแบ่ง ถ้าส่วนที่แบ่งให้ไม่เท่ากันไซร้ จะสั่งให้ทดแทนกันเป็นเงินก็ได้ ถ้าการแบ่ง เช่นว่านี้ไม่อาจทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ดี ศาลจะสั่งให้ขายโดยประมูลราคากันระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดก็ได้