คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๑๔/๒๕๖๒
โจทก์ตกลงมอบเงินให้ตามข้อเสนอของจำเลยที่จะไปดำเนินการวิ่งเต้นให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ต้องการ เป็นการส่งเสริมให้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์เข้ามาแทรกแซงกระบวนการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ
ก่อให้เกิดผลเสียแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของสังคม
ทั้งยังเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของข้าราชการตำรวจที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและมีความเหมาะสมแต่ไม่ได้รับการแต่งตั้งข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐
การคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามมาตรา ๑๗๒ วรรคสอง
โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปดำเนินการวิ่งเต้นเพื่อให้ตนเองได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามที่ต้องการ ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นชำระหนี้อันฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี
โจทก์ไม่อาจ เรียกร้องเงินคืนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๐๗ และ ๔๑๑
เพิ่มเติม
การชำระหนี้ไปตามอำเภอใจ ต้องรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ
การกระทำตามอำเภอใจ หมายความว่า กระทำโดยเต็มใจ ไม่ถูกบังคับด้วยข้อเท็จจริงใดๆ
ในขณะกระทำรู้ถึงความไม่มีหนี้
แต่ยังเต็มใจชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๕๐ การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
การนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา ๑๗๒
โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้
และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้
ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม
ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ
มาตรา ๔๐๗ บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ
ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่
มาตรา ๔๑๑ บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี
ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่
อ้างอิง
นริสสรา อิงคศิริ. “ ปัญหาข้อห้ามเรียกทรัพย์ที่ชำระหนี้ไปโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีตามหลักลาภมิควรได้. ” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553.
0 Comments
แสดงความคิดเห็น