คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๘๑/๒๕๖๒
แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๔๒๓ ไม่ได้บัญญัติว่าเป็นการกล่าวหรือ ไขข่าวต่อบุคคลที่สาม
แต่การกล่าวหรือไขข่าวที่แพร่หลายได้ก็ต้องมีบุคคลที่สามอยู่
การพูดคนเดียวไม่มีคนได้ยินย่อมไม่เป็นการกล่าวให้แพร่หลาย
ดังนั้นถ้ามีคนแอบฟังโดยคนพูดไม่รู้การพูดดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พ. เป็นผู้เริ่มต้นการตั้งโปรแกรมสนทนาผ่านบัญชีเฟสบุ๊ค
แมสเซนเจอร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ให้บริการส่งข้อความและข้อมูลมัลติมีเดียสนทนาโต้ตอบกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เข้าในระบบเพื่อนคุยกัน
โปรแกรมสนทนาดังกล่าวเป็นแบบระบบปิดมีสมาชิกเพียง ๓ คนคือจำเลยทั้งสองและ พ. บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปดูหรืออ่านข้อความสนทนาได้
การสนทนาดังกล่าวที่มีการพูดถึงโจทก์และพนักงานอื่นรวมอยู่ด้วยจึงเป็นการกล่าวที่จำเลยทั้งสองและ
พ. ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันสนทนาร่วมกันหลายครั้ง จึงมิใช่เป็นการที่จำเลยทั้งสองกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย
ส่วนการที่โจทก์แอบดูและอ่านข้อความสนทนาและนำไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นรับทราบเอง
ย่อมไม่ทำให้การสนทนาระหว่างกลุ่มบุคคลทั้งสามเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายให้บุคคลอื่นรับทราบได้
การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๔๒๓
เพิ่มเติม
การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย
เป็นการแสดงข้อความด้วยวิธีพูด เขียน โทรศัพท์ โทรสาร อินเตอร์เน็ต
หรือทำอย่างไรก็ได้ที่สื่อให้บุคคลที่สามเข้าใจความหมายว่า เป็นการกล่าวหรือไขข่าว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๔๒๓ ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง
เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี
หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี
ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ
อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง
หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว
ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
อ้างอิง
เพ็ง
เพ็งนิติ. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยละเมิดพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
และกฎหมายอื่นที่เกี่ยงข้อง. พิมพ์ครั้งที่
10 – ฉบับปรับปรุงใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2560.
0 Comments
แสดงความคิดเห็น