คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๖๔/๒๕๖๒ 

               โจทก์ฎีกาโดยนำแบบพิมพ์คำร้องมาขีดฆ่าแก้ไขแล้วเขียนข้อความใหม่ว่าเป็นฎีกา โดยไม่ได้ใช้แบบพิมพ์ฎีกาและคำขอท้ายฎีกาให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด แต่ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์โดยไม่ได้สั่งให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อนแม้เป็นการไม่ชอบ แต่คดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าศาลฎีกาสมควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์

               คดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลเองและมีการไต่สวนมูลฟ้อง หากราษฎรผู้เป็นโจทก์มีความจำเป็นต้องการค้นหาสิ่งของ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นเพื่อจะนำมาเป็นพยานหลักฐาน ประกอบการไต่สวนมูลฟ้องคดีของตนก็ชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายค้นเพื่อพบและยึดสิ่งของนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๖๙ (๑) มิใช่เป็นอำนาจของพนักงานฝ่าย ปกครองหรือตำรวจโดยเฉพาะที่จะร้องขอให้ศาลออกหมายค้นตามมาตรา ๕๙ วรรคสอง

               โจทก์ซึ่งเป็นราษฎรขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายค้นเพื่อนำไปค้นหาพยานหลักฐานมาประกอบฎีกาในระหว่างที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาย่อมล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จะนำพยานหลักฐานอื่นมาแสดงต่อศาลแล้ว การที่โจทก์มิได้อ้างอิงพยานวัตถุที่ต้องการให้ศาลออกหมายค้นไว้เป็นพยานหลักฐานในบัญชีระบุพยานตั้งแต่แรก หรือยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาล พยานวัตถุที่โจทก์ต้องการให้ศาลออกหมายค้นย่อมไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๙/๑ วรรคท้าย ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลชั้นต้นออกหมายค้นแก่โจทก์

                   

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๕๙ ศาลจะออกคำสั่งหรือหมายจับ หมายค้น หรือหมายขัง ตามที่ศาลเห็นสมควรหรือโดยมีผู้ร้องขอก็ได้

               ในกรณีที่ผู้ร้องขอเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสามหรือตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป

               ................

               มาตรา ๖๙ เหตุที่จะออกหมายค้นได้มีดังต่อไปนี้

               (๑) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา

               (๒) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด

               (๓) เพื่อพบและช่วยบุคคลซึ่งได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

               (๔) เพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ

               (๕) เพื่อพบและยึดสิ่งของตามคำพิพากษาหรือตามคำสั่งศาล ในกรณีที่จะพบหรือจะยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว