ตัวแทนกู้ยืมเงิน

ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนกู้ยืมเงิน

Ø การตั้งตัวแทนกู้ยืมเงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ (ฎีกาที่ ๖๗๘/๒๔๗๗, ๓๕๔๘/๒๕๕๔)

Ø ในการต่อสู้คดีว่า เป็นตัวแทนการกู้ยืมเงินให้แก่ผู้อื่น จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง การนำสืบพยานบุคคล จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญากู้เงินต้องห้ามตามกฎหมาย

               ฎีกาที่ ๖๗๘/๒๔๗๗ การกู้เงินซึ่งกฎหมายต้องการหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

               ฎีกาที่ ๓๕๔๘/๒๕๕๔ การที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่ากู้ยืมเงินแทนจึงต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๙๘ วรรคสอง การนำสืบถึงการตั้งตัวแทนจึงต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง แต่จำเลยที่ ๑ หาได้มีหลักฐานที่บริษัท จ. ตั้งจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนกู้ยืมเงินกับโจทก์มาแสดงเป็นพยานหลักฐานไม่ จำเลยที่ ๑ เพียงแต่อ้างพยานบุคคลมาสืบเป็นพยานคือจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ และเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้และประทับตราสำคัญของจำเลยที่ ๑ ในสัญญากู้เงินที่ทำกับโจทก์มาเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ ๑ ผู้ยืมเงินแทนบริษัท จ. เพราะ ว. ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังกล่าวขอร้อง เนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่มีหลักทรัพย์ที่จะต้องใช้ในการค้ำประกันและจำนองเป็นประกัน ส่วนพยานอื่นของจำเลยที่ ๑ ที่นำสืบก็ล้วนเป็นพยานบุคคลเช่นกัน การนำสืบของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวจึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญากู้เงิน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ (ข)

Ø ระหว่างตัวแทนตัวการ ในการเรียกร้องเอาเงินทดรอง หรือเงินค่าใช้จ่าย ไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา ๗๙๘ แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือทำเป็นหนังสือ ตัวแทนก็มีสิทธิเรียกเอาจากตัวการได้ (ดูฎีกาที่ ๘๑๐/๒๔๘๖, ๔๙/๒๔๙๑)

               ฎีกาที่ ๘๑๐/๒๔๘๖ บอกให้เขา(ตัวการ)เอาเงินของเขาชำระหนี้แทนตน(ตัวแทน)นั้น ไม่เข้าลักษณะกู้ยืมแต่เป็นเรื่องตัวการตัวแทน ผู้ออกเงินใช้หนี้ไป มาฟ้องเรียกเงินได้ โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ

v อายุความ กรณีเรียกร้องเอาเงินทดรอง หรือค่าใช้จ่าย จากตัวการ มีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี ( ดูฎีกาที่ ๒๖๑๕/๒๕๔๓ )

               ฎีกาที่ ๒๖๑๕/๒๕๔๓ กรณีที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปชดใช้จากตัวการในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๑๖ วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐

              

หน้าที่ของตัวการต่อตัวแทน

               ตามมาตรา ๘๑๖ ตัวแทนมีสิทธิเรียกร้องจากตัวการได้ คือ

               ๑. เงินทดรอง

               ๒. เงินค่าใช้จ่าย

               ๓. ให้ตัวการชำระหนี้แทนตัวแทน

               ๔. ให้ตัวการให้ประกันการชำระหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้

               ๕. เรียกเอาค่าสินไหมทดแทน

 

๑. เงินทดรอง

               เงินทดรอง เป็นเงินที่ตัวแทนได้เอาเงินของตัวแทนออกชำระหนี้ไปแทนตัวการเป็นการล่วงหน้า

 

๒. เงินค่าใช้จ่าย

               เงินค่าใช้จ่ายที่ตัวแทนต้องจ่ายไป ไม่ใช่เงินที่ตัวแทนนำไปชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอก

 

๓. ให้ตัวการชำระหนี้แทนตัวแทน

               ในกรณีการกู้ยืมเงิน เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว ตัวแทนอ้างว่ากู้ยืมเงินแทน และมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง ( ดูฎีกาที่ ๓๕๔๘/๒๕๕๔ )  เช่นนี้ ตัวแทนมีสิทธิเรียกให้ตัวการชำระหนี้แทนตนแก่เจ้าหนี้ได้ ในกรณีที่ตัวแทนถูกฟ้องต่อศาลให้รับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ หากตัวแทนมีหลักฐานมาแสดงว่าเป็นตัวแทน ดังนี้ ตัวแทนขอให้ศาลหมายเรียกตัวการ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ ( ดูฎีกาที่ ๔๓๕๕/๒๕๔๘ )

               ฎีกาที่ ๔๓๕๕/๒๕๔๘ ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบริษัท ช. และบริษัท ป. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่ามูลหนี้ตามฟ้องที่เกิดจากการติด ตั้งเต้าปูน และใส่ระบบลากจูงเป็นรถพ่วงเต้าปูนที่จำเลยทำกับโจทก์นั้น จำเลยได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของบริษัท ช. และบริษัท ป. ผู้เช่าซื้อ จำเลยไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวต่อโจทก์ ดังนี้ คำร้องของจำเลยดังกล่าวย่อมเข้าเกณฑ์ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา ๕๗ (๓) (ก) เนื่องจากเป็นอันเข้าใจว่า เป็นการขอให้ศาลหมายเรียก บุคคลภายนอกเข้ามาในคดีโดยอ้างว่า ถ้าหากศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีตามฟ้อง จำเลยในฐานะตัวแทนย่อมฟ้องบริษัท ช. และบริษัท ป. ซึ่งเป็นตัวการเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยได้

              

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๘๑๖ ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนได้ออกเงินทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไป ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการ รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยก็ได้

               ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนต้องรับภาระเป็นหนี้ขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกให้ตัวการชำระหนี้แทนตนก็ได้ หรือถ้ายังไม่ถึงเวลากำหนดชำระหนี้ จะให้ตัวการให้ประกันอันสมควรก็ได้

               ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น เป็นเหตุให้ตัวแทนต้องเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใด มิใช่เป็นเพราะความผิดของตนเองไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากตัวการก็ได้

อ้างอิง

ไผทชิต เอกจริยกร. ตัวแทน-นายหน้า. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2559.