คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕๙๔/๒๕๖๒
นอกจากพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
พ.ศ. ๒๕๕๑ จะถูกบัญญัติขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในกระบวนการดำเนินคดีระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจแล้ว
ยังมีหลักการสำคัญที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้ด้วย คือ
หลักการไม่เคร่งครัดที่นำมาใช้เพื่อแก้ไขการตีความหรือการปรับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่เคร่งครัด
ซึ่งบทบัญญัติมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑
ก็อยู่ในบริบทของหลักการดังกล่าวที่ให้อำนาจผู้บริโภคสามารถฟ้องบังคับผู้ประกอบธุรกิจให้ชำระหนี้ได้
แม้นิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดถึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้จะไม่ได้ถูกทำขึ้น
หรือ สัญญาที่ไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้หากผู้บริโภคได้วางมัดจำ หรือชำระหนี้บางส่วน
ทั้งยังไม่ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๙๔
มาใช้บังคับแก่ผู้บริโภคในการฟ้องคดีและพิสูจน์ ถึงนิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ
แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะใช้ถ้อยคำว่าในการฟ้องคดีของผู้บริโภค แต่เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ไม่เพียงต้องการคุ้มครองผู้บริโภค
ในฐานะโจทก์เท่านั้น หากยังมุ่งคุ้มครองและเป็นการเอื้อสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคในการดำเนินกระบวนพิจารณากรณีที่เป็นจำเลยอีกด้วย
การตีความการบังคับใช้บทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องหมายความรวมถึง
การต่อสู้คดีของผู้บริโภคด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้สิทธิของผู้บริโภคทั้งในฐานะโจทก์และจำเลยสมกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย
และเป็นไปตามหลักการไม่เคร่งครัด จำเลยในฐานะผู้บริโภคจึงมีสิทธินำสืบพยานบุคคลถึงการใช้เงินได้
โดยไม่อยู่ในบังคับว่าการนำสืบการใช้เงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว
หรือ ได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓
วรรคสอง บัญญัติไว้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๖๕๓ การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น
ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น
ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว
หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
พ.ศ.๒๕๕๑
มาตรา ๑๐
บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บังคับให้นิติกรรมใดต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้นั้น
มิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้บริโภคในการฟ้องบังคับให้ผู้ ประกอบธุรกิจชำระหนี้
ในกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับให้สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจจะต้องทำตามแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง
ถึงแม้สัญญาดังกล่าวยังมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบนั้น แต่หากผู้บริโภคได้ วางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วนแล้ว
ให้ผู้บริโภคมีอำนาจฟ้องบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำสัญญาให้เป็นไปตามแบบที่กฎหมายกำหนดหรือชำระหนี้เป็นการตอบแทนได้
ในการดำเนินคดีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง
มิให้นำมาตรา ๙๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาใช้บังคับแก่ผู้บริโภคในการฟ้องคดีผู้บริโภคและการพิสูจน์ถึงนิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ
0 Comments
แสดงความคิดเห็น