คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๐/๒๕๖๒
แม้หนังสือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมและเป็นเอกสารมหาชนที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง
เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบถึงความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา
๑๒๗ ก็ตาม แต่คดีผู้บริโภคและจำเลยเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๑๐ วรรคท้าย ซึ่งเป็นบทยกเว้นให้จำเลยสามารถนำสืบเพิ่มเติมตัดทอน
หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารเพื่อให้ทราบถึงความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องของข้อความที่ถูกทำขึ้นแห่งเอกสารหนังสือสัญญาจำนองว่าจำนวนเงินกู้ยืมที่จำเลยได้รับจริงเพียงใด
และโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาจำนองได้
โดยมิตกอยู่ภายใต้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔
จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์และโจทก์ส่งมอบเงินกู้ยืมให้จำเลยเพียง
๗๗๒,๐๐๐ บาท มิใช่ ๙๐๐,๐๐๐ บาท
และโจทก์คิดดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมอัตราร้อยละ ๒ ต่อเดือนมิใช่อัตราร้อยละ ๑๕
ต่อปี ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕ มาตรา ๓
(เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๔ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๒
ต่อเดือน ตกเป็นโมฆะ แต่ไม่ทำให้ส่วนของต้นเงินจำนวน ๗๗๒,๐๐๐
บาท ที่ยังสมบูรณ์ตามหนังสือสัญญาจำนอง ตกเป็นโมฆะด้วยเพราะพึงสันนิษฐานโดยพฤติการณ์แห่งกรณีได้ว่า
โจทก์และจำเลยมีเจตนาจะให้ส่วนเงินต้นที่กู้ยืมแท้จริงนั้นแยกออกจากส่วนดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๗๓
ดอกเบี้ยการกู้ยืมเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
พ.ศ.๒๔๗๕ มาตรา ๓ (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๔ ตกเป็นโมฆะ
ต้องถือว่าการกู้ยืมเงินโจทก์และจำเลยมิได้มีข้อตกลงในเรื่องอัตราดอกเบี้ยกันไว้
โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากหนี้เงินที่ให้ยืมในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ ๗.๕
ต่อปี ตามประมวลกฎหมายและพาณิชย์ มาตรา ๗ ประกอบมาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง
ตามฎีกานี้
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน ๙๐๐,๐๐๐ บาท โดยโจทก์คิดดอกเบี้ยหักล่วงหน้าอัตราร้อยละ
๒ ต่อเดือน และโจทก์ส่งมอบเงินกู้ยืมให้จำเลย ๗๗๒,๐๐๐ บาท
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
พ.ศ.๒๕๕๑
มาตรา ๑๐ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บังคับให้นิติกรรมใดต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้นั้น
มิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้บริโภคในการฟ้องบังคับให้ผู้ ประกอบธุรกิจชำระหนี้
ในกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับให้สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจจะต้องทำตามแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง
ถึงแม้สัญญาดังกล่าวยังมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบนั้น แต่หากผู้บริโภคได้ วางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วนแล้ว
ให้ผู้บริโภคมีอำนาจฟ้องบังคับ ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำสัญญาให้เป็นไปตามแบบที่กฎหมายกำหนดหรือชำระหนี้เป็นการตอบแทนได้
ในการดำเนินคดีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้นำมาตรา ๙๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับแก่ผู้บริโภคในการฟ้องคดีผู้บริโภคและการพิสูจน์ถึงนิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ
0 Comments
แสดงความคิดเห็น