คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๕๐/๒๕๖๒ 

               ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า “ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ ฯลฯ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้วอายุความจึงจะหยุดนับ บทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ นี้ เป็นบทบัญญัติทั่วไป ไม่ได้ใช้บังคับในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ เท่านั้น ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์อย่างเช่นคดีนี้ก็ต้องถือหลักอย่างเดียวกัน โจทก์บรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๐ ความผิดของจำเลยที่โจทก์ฟ้องมีอายุความสิบปี โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ คดีจึงจะไม่ขาดอายุความ กรณีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐ แต่ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องคดีของโจทก์ต่อไป ระหว่างนั้นจะถือว่าได้ตัวจำเลยมายังศาลและจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วไม่ได้ อายุความยังไม่หยุดนับ เมื่อโจทย์ไม่ได้ตัวจำเลยมาพิจารณาภายในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ คดีของโจทก์จึงเกินสิบปีนับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

 

               ตามฎีกานี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗

 

เพิ่มเติม

               การนับอายุความให้เริ่มนับแต่วันกระทำความผิด(ฎีกาที่ ๑๔๖๘๙/๒๕๕๖) มิใช่วันที่โจทก์รู้เรื่องการกระทำความผิดของจำเลย(ฎีกาที่ ๕๕๔๐/๒๕๖๑)

               จำเลยมาฟังการพิจารณาของศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องยังไม่ถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาล ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลตาม ป.อ. มาตรา ๙๕(ฎีกาที่ ๓๕๓/๒๕๕๖) จำเลยแต่งตั้งทนายความเข้าซักค้านพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เป็นการใช้สิทธิ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๖๕ วรรคท้าย และจำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย จึงมิใช่เป็นการได้ตัวจำเลยมาศาล(ฎีกาที่ ๗๔๕๕/๒๕๕๔)

 

ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๙๕ ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

               (๑) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี

               (๒) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี

               (๓) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี

               (๔) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี

               (๕) หนึ่งปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น

               ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้วนับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน