คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๗๐๒/๒๕๖๒
โจทก์และจำเลยทั้งสามจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินก่อนพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๕๗ มีผลใช้บังคับ คือ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
การที่โจทก์ผู้รับจำนองประสงค์จะบังคับจำนองนับจากนั้น โจทก์ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๗๒๘ วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่
โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองกำหนดระยะเวลาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองให้เสร็จสิ้นภายใน
๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนอง จำเลยทั้งสามได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองอันเป็นการกำหนดระยะเวลาน้อยกว่าหกสิบวันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๗๒๘ วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้แน่นอนแล้ว จะนำระยะเวลา
๓๐ วัน ตามหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปรวมกับระยะเวลาหลังจากนั้นจนถึงวันฟ้องว่าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวันแล้วหาได้ไม่
จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าวตามบทบัญญัติดังกล่าว
โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
เพิ่มเติม
กำหนดเวลาให้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่า
๖๐ วัน ระยะเวลา ๖๐ วัน ไม่รวมระยะเวลาหลังจากนั้น(ฎีกาที่ ๕๗๐๒/๒๕๖๒) ดังนั้น
หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองต้องกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่า ๖๐ วัน ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาให้ไถ่ถอนจำนองเมื่อใด
ไม่เป็นคำบอกกล่าวบังคับจำนอง(ฎีกาที่ ๑๖๐๘/๒๕๐๖(ประชุมใหญ่))
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๗๒๘
เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวนั้น
ถ้าและลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกรณีผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นต้องชำระ ผู้รับจำนองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวให้ผู้จำนองทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่ง หนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าผู้รับจำนองมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนั้น ให้ผู้จำนองเช่นว่านั้นหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันดังกล่าว
0 Comments
แสดงความคิดเห็น