คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๓๗/๒๕๖๒
โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกัน
แต่เนื่องจากจำเลยต้องการหลักประกันจึงให้โจทก์ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้กู้ยืมเงิน
โดยถือสัญญาขายฝากเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินครบกำหนดระยะเวลาไถ่ที่ขยายออกไปโจทก์ยังไม่อาจชำระหนี้ให้แก่จำเลย
จำเลยนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองต่อธนาคารโดยให้โจทก์ชำระหนี้แก่ธนาคารโดยตรง
และถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่จำเลย ดังนี้ สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลย
ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕ วรรคหนึ่ง
สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืม
เงินระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยมีที่ดินพิพาทเป็นประกันและตกเป็นโมฆะ จึงต้องนำกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมกู้ยืมมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๕๕ วรรคสอง เป็นผลให้โจทก์ยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและมีสิทธิติดตามเอาคืนที่ดินพิพาทจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
๑๓๓๖ กับมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยได้
ตามคำฟ้องของโจทก์รับว่าโจทก์เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อที่ตกลงให้จำเลยเป็นตัวแทนนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองกับธนาคารผู้รับจำนอง
เมื่อธนาคารผู้รับจำนองไม่ทราบว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ การจำนองที่ดินพิพาทย่อมผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ
และมีผลให้โจทก์ต้องรับผิดต่อธนาคารผู้รับจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๘๒๒ แม้ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยก็ตาม
ผลแห่งคำพิพากษาย่อมไม่กระทบไปถึงสิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งไม่ได้เข้าเป็นคู่ความในคดี
จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง มาตรา ๑๔๕
เพิ่มเติม
นิติกรรมอำพราง ต้องมี ๒
นิติกรรม(ฎีกาที่ ๒๙๙๒/๒๕๕๘) ได้แก่
๑. นิติกรรมที่แสดงออก
ซึ่งไม่ตรงกับเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณี และคู่กรณีไม่ประสงค์ให้มีผลในทางกฎหมาย
เป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้ระหว่างคู่กรณีตามมาตรา ๑๕๕ วรรคหนึ่ง(ฎีกาที่
๕๗๙๒/๒๕๕๘)
๒. นิติกรรมนิติกรรมที่ไม่เปิดเผย
หรือที่ถูกอำพรางไว้ โดยคู่กรณีประสงค์จะใช้บังคับระหว่างกัน(ฎีกาที่ ๑๐๘๓๕/๒๕๕๖) และบังคับตามนิติกรรมที่ถูกอำพรางตามมาตรา
๑๕๕ วรรคสอง(ฎีกาที่ ๓๕๔๘/๒๕๕๔)
๓.
กระทำโดยคู่กรณีเดียวกัน(ฎีกาที่ ๕๒๓๖/๒๕๔๒)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๕๕ วรรคสอง ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำ ขึ้นเพื่ออำ พรางนิติกรรมอื่น ให้นำ บทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำ พรางมาใช้บังคับ
มาตรา ๘๒๒
ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนไซร้
ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๓๓๖ ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
0 Comments
แสดงความคิดเห็น