คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๘๓/๒๕๖๒
สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์และจำเลยไม่มีข้อตกลงว่า
กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทดังกล่าว
จะโอนเป็นของผู้ซื้อก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด
ข้อสัญญาที่ว่า ผู้ขายได้มอบเอกสารและลงชื่อการโอนลอยให้ไว้และยืนยันว่าสามารถโอนได้
จึงเป็นเพียงการรับประกันของผู้ขายว่าผู้ขายได้มอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนโอนให้แก่ผู้ซื้อไว้แล้ว
และรับรองว่าสามารถไปดำเนินการโอนได้เท่านั้นมิใช่เงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตาม
ป.พ.พ.มาตรา ๔๕๙ สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด โจทก์ในฐานะผู้ซื้อเมื่อได้รับมอบรถยนต์จากจำเลย และชำระราคารถยนต์ให้จำเลยครบถ้วนแล้ว โดยในการตกลงซื้อขายโจทก์ได้ตรวจสอบสภาพรถและรับทราบถึงความชำรุดของรถพิพาท โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในรถพิพาทไปตามสภาพที่ซื้อขาย
ไม่อาจเรียกราคาค่ารถยนต์ที่โจทก์ชำระและเรียกค่าซ่อมแซมรถยนต์จากจำเลยได้
เพิ่มเติม
ฎีกาที่
๙๖๐๓/๒๕๕๓(ประชุมใหญ่) โจทก์ร่วมตกลงซื้อรถยนต์ตู้กับจำเลยในราคา ๓๑๐,๐๐๐ บาท ซึ่งในสัญญาข้อ ๓ ระบุว่าจำเลยตกลงรับชำระราคารถยนต์จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๐ ส่วนจำนวนที่เหลือจะชำระให้จำเลยในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้แต่ประการใด
จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ.มาตรา๔๕๓,
๔๕๘
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๔๕๘
กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน
มาตรา ๔๕๙ ถ้าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาบังคับไว้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น
0 Comments
แสดงความคิดเห็น