คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๓๗๗/๒๕๕๘

               สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน ตามคำขอเอาประกันภัยรถยนต์ ระบุว่า อ. ขอเอาประกันภัยรถยนต์เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑ โดยมีความประสงค์ให้กรมธรรม์มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒ แม้ตามกรมธรรม์จะระบุวันทำสัญญาประกันภัยวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑ แต่การที่โจทก์ยินยอมระบุให้ระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ สิ้นสุดวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ตามคำขอเอาประกันภัยของ อ. ถือได้ว่าเป็นค่าสนองตอบรับค่าเสนอตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ สัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นและมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ สัญญาหาได้เกิดขึ้น ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ไม่ เมื่อเหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑ จึงเกิดขึ้นในระยะเวลาประกันภัย ส่วนการออกกรมธรรม์ประกันภัยเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑ เป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อการฟ้องร้องบังคับคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๖๗ วันที่ออกกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเวลาภายหลังจากที่สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายในระยะเวลาที่สัญญาประกันภัยมีผลบังคับและโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อรถยนต์แล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ได้

 

เพิ่มเติม

               การติดต่อขอทำสัญญาประกันภัย ถือว่าเป็นคำเสนอ เมื่อบริษัทรับประกันภัยหรือตัวแทนให้กรอกรายละเอียดข้อมูลลงในคำขอเอาประกันประกัน คำขอเอาประกันภัย ถือได้ว่าเป็นคำสนอง สัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นตามฎีกาที่ ๑๒๓๗๗/๒๕๕๘

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๘๖๗ อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

               ให้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอาประกันภัยฉบับหนึ่ง

               กรมธรรม์ประกันภัย ต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกันภัยและมีรายการ ดังต่อไปนี้          

               (๑) วัตถุที่เอาประกันภัย

               (๒) ภัยใดซึ่งผู้รับประกันภัยรับเสียง

               (๓) ราคาแห่งมูลประกันภัย ถ้าหากได้กำหนดกันไว้

               (๔) จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย

               (๕) จำนวนเบี้ยประกันภัย และวิธีส่งเบี้ยประกันภัย

               (๖) ถ้าหากสัญญาประกันภัยมีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดไว้ด้วย       

               (๗) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัย

               (๘) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย

               (๙) ชื่อของผู้รับประโยชน์ ถ้าจะพึงมี

               (๑๐) วันทำสัญญาประกันภัย

               (๑๑) สถานที่และวันที่ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัย