คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๐/๒๕๖๒
ผู้ตายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้
โดยมีทรัพย์มรดกหลายรายการ ได้แก่ เงินสดที่ฝากไว้กับธนาคารต่าง ๆ หุ้นในบริษัท
และที่ดินอีกหลายแปลง ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
โดยจำเลยที่ ๑ เปลี่ยนชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ ๑ ถึงที่
๓ ในฐานะผู้จัดการมรดก แม้ต่อมาจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ได้เปลี่ยนแปลงชื่อในการครอบครองทรัพย์มรดกและเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นหลายรายการมาเป็นชื่อของจำเลยที่
๑ ถึงที่ ๓ แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ มิได้โอนทรัพย์มรดกดังกล่าวต่อให้บุคคลอื่นอีก
จึงไม่เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ยักย้ายโดยฉ้อฉล
หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทอื่น ไม่เป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๐๕ วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยที่ ๒ นำที่ดินบางโฉนดที่เป็นทรัพย์มรดกซึ่งรับโอนมาแล้ว
โอนขายแก่ จำเลยที่ ๔ ในราคา ๑๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์และทายาทอื่นเสื่อมประโยชน์ในการได้รับการแบ่งปัน
จึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๖๐๕ ทายาทคนใดยักย้าย
หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น
ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย
แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น
มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น
0 Comments
แสดงความคิดเห็น