คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๘๗๓/๒๕๖๒ 

               สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนด แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการหักทอนบัญชีและชำระหนี้คงเหลือให้เสร็จสิ้นไปและยังคงเดินสะพัดทางบัญชีกันอยู่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดิน สะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ยังมีผลผูกพันอยู่และกลายเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๙

               โจทก์มีหนังสือเรื่องให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีถึงจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้กู้ และจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกัน ย่อหน้าสุดท้ายระบุว่า โจทก์จึงขอทวงถามให้ชำระหนี้ บอกเลิกสัญญา กู้เบิกเงินเกินบัญชีโดยให้ชำระหนี้ข้างต้นพร้อมดอกเบี้ยอันจะพึงเกิดขึ้นให้เสร็จสิ้นไปภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ มิฉะนั้น โจทก์จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป มีลักษณะเป็นกรณีที่ โจทก์หักทอนบัญชีแล้วทวงถามให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินตามยอดที่ค้างชำระ การเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีนี้จะมีผลเมื่อครบกำหนดเวลาตามที่ระบุในหนังสือ

                    โจทก์มีหนังสือส่งไปยังจำเลยที่ ๑ ตามสถานที่ที่ระบุในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี แม้จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับ แต่ซองจดหมายมีการระเหตุขัดข้องที่นำจ่ายผู้รับไม่ได้ว่าย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่ โดยมีลายมือชื่อ ของพนักงานที่เกี่ยวข้องในการนำจ่ายและลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ กำกับไว้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ เคยแจ้งการเปลี่ยนแปลงสถานที่ที่ระบุไว้ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมาก่อน ถือได้ว่าโจทก์ส่งหนังสือให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยชอบแล้ว ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ที่กำหนดว่า “บรรดาหนังสือติดต่อ ทวงถาม บอกกล่าวหรือหนังสืออื่น ใดที่จะส่งให้แก่ผู้กู้นั้น ไม่ว่าจะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือไม่ลงทะเบียน หรือให้คนนำไปส่งเองก็ดี ถ้าหากได้ส่งไปยังสถานที่ที่ระบุไว้ข้างต้นตามสัญญาฉบับนี้ ให้ถือว่าได้ส่งให้แก่ผู้กู้โดยชอบ ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าจะมีผู้รับไว้หรือไม่ก็ตาม..” สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นอันเลิกกันในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๙ และถือว่าจำเลยที่ ๑ ตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นไป


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๘๕๙ คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด และให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรปรากฏเป็นข้อขัดกับที่กล่าวมานี้