คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๑๑๖/๒๕๖๐ 

(ผู้เสียหายตรวจสอบแล้วมอบให้จำเลยนำไปฝากเข้าบัญชีของผู้เสียหายที่ธนาคาร กรณีจึงถือได้ว่าขณะนั้นผู้เสียหายได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยแล้ว)

               ผู้เสียหายประกอบกิจการร้าน ซ.จำเลยเป็นพนักงานของผู้เสียหาย มีหน้าที่ดูแลกิจการในร้าน ซ. และนำเงินรายได้ของร้านไปฝากธนาคาร โดยเมื่อพนักงานของร้านขายสินค้าได้แล้วจะนำเงินที่ได้รับจากลูกค้าใส่ซองหย่อนลงไปในตู้นิรภัยของร้านซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือกุญแจตู้นิรภัยเพียงคนเดียว และไม่มีสิทธินำเงินรายได้ดังกล่าวไปใช้ส่วนตัว เวลาประมาณ ๑๓ นาฬิกาของทุกวัน จำเลยต้องนำกุญแจไปไขตู้นิรภัยนำเงินรายได้ของร้านออกมาแล้วไปตรวจนับต่อหน้า ส. และ ท. เมื่อทราบจำนวนเงินรายได้แล้ว ส. จะเขียนใบนำฝากเงิน และมอบสมุดบัญชีของตนเองให้จำเลย จากนั้นจำเลยจะขับรถยนต์นำเงินพร้อมสมุดบัญชีและ ใบนำฝากไปฝากเงินที่ธนาคาร วันรุ่งขึ้นจำเลยต้องนำใบรับฝากเงินที่มีตราประทับจากธนาคารส่งคืนให้แก่ผู้เสียหายเพื่อตรวจสอบยอดเงินที่นำไปฝากธนาคารว่าครบถ้วนหรือไม่ วันเกิดเหตุ ธ. และบุตรของ ท. ได้ร่วมตรวจนับเงินกับจำเลยแล้วมอบเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยนำไปฝากธนาคาร หลังจากนั้นจำเลยร่วมกับพวกเอาเงินนั้นไป การที่จำเลยใช้กุญแจไขตู้นิรภัยนำเงินรายได้ของร้าน ซ. ออกมาแล้วนำไปตรวจนับต่อหน้า ส. และ ท. เป็นเพียงการทำงานในหน้าที่ดูแลเงินชั่วคราวเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายได้มอบการครอบครองเงินให้แก่จำเลยโดยเด็ดขาดไม่ ดังนี้ ขณะนั้นจำเลยจึงไม่ใช่ผู้ครอบครองเงินของผู้เสียหายแต่เมื่อจำเลยเอาเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท ของผู้เสียหายไป หลังจากที่ผู้เสียหายตรวจสอบแล้วมอบให้จำเลยนำไปฝากเข้าบัญชีของผู้เสียหายที่ธนาคาร กรณีจึงถือได้ว่าขณะนั้นผู้เสียหายได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยแล้วเพราะจำเลยต้องถือและรักษาเงินจำนวนนั้น จนกระทั่งนำไปฝากเข้าบัญชีของผู้เสียหายที่ธนาคารให้เรียบร้อย การที่จำเลยวางแผนให้พวกจำเลยมาแย่งเอาเงินไปในระหว่างเดินทางไปธนาคารจึงเป็นความผิดฐานยักยอก

              

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๑๕๗๒๓/๒๕๕๗ จำเลยมีหน้าที่รับเงินที่ลูกค้านำมาชำระค่างวดสินเชื่อให้แก่โจทก์และออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ลูกค้า แล้วนำเงินที่รับจากลูกค้าเข้าบัญชีของโจทก์ หากไม่ทันต้องทำภายในวันรุ่งขึ้น แสดงว่าจำเลยสามารถนำเงินไปเข้าบัญชีของโจทก์ในวันรุ่งขึ้นหลังจากรับเงินจากลูกค้าได้ แต่จำเลยกลับไม่นำเงินที่ได้รับจากลูกค้าไปเข้าบัญชีของโจทก์เลย จนกระทั่งโจทก์ตรวจพบการกระทำของจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นตั้งแต่รับเงินจากลูกค้าของโจทก์ทั้งห้ารายแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๒ วรรคแรก

 

ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๓๕๒ ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

               ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง