คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๐/๒๕๕๗

               ตามบทบัญญัติมาตรา ๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา แบ่งการบังคับใช้กฎหมายได้ ๒ กรณีคือ กรณีที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา ศาลมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย หากศาลบังคับใช้แล้ว คู่ความไม่เห็นด้วยต้องอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านไปยังศาลสูง ส่วนอีกกรณีหนึ่งตามมาตรา ๓(๑) กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับใช้เมื่อคดีถึงที่สุดไปแล้ว ซึ่งคดีของจำเลยที่ ๑ เข้ากรณีแรก เนื่องจากกฎหมายแก้ไขใหม่ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาว่ากฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณ คงใช้กฎหมายขณะกระทำความผิด หากจำเลยที่ ๑ ไม่เห็นด้วยก็ต้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๖ เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ฎีกา จำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาได้อีก เพราะกรณีตามมาตรา ๓(๑) เป็นกรณีที่คดีถึงที่สุดก่อนที่จะมีกฎหมายแก้ไขใหม่ออกบังคับใช้ คำร้องของจำเลยที่ ๑ จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยที่ ๑ ใหม่ได้

 

ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๓ ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้ว ดังต่อไปนี้

               (๑) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่ และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง เมื่อสำนวนความปรากฏแก่ศาลหรือเมื่อผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้นหรือพนักงานอัยการร้องขอ ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ในการที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่นี้ ถ้าปรากฏว่า ผู้กระทำความผิดได้รับโทษมาบ้างแล้ว เมื่อได้คำนึงถึงโทษตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง หากเห็นเป็นการสมควร ศาลจะกำหนดโทษน้อยกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดไว้ถ้าหากมีก็ได้ หรือถ้าเห็นว่าโทษที่ผู้กระทำความผิดได้รับมาแล้วเป็นการเพียงพอ ศาลจะปล่อยผู้กระทำความผิดไปก็ได้

               (๒) ถ้าศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตผู้กระทำความผิด และตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดไม่ถึงประหารชีวิต ให้งดการประหารชีวิตผู้กระทำความผิด และให้ถือว่าโทษประหารชีวิตตามคำพิพากษาได้เปลี่ยนเป็นโทษสูงสุดที่จะพึงลงได้ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง