ประเด็น ๑. การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสินสมรส ในการให้ความยินยอมเป็นหนังสือของคู่สมรส
ถ้าไม่ได้ทำที่สำนักงานที่ดินและต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จะสมบูรณ์หรือไม่
๒.
ผลของการทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมของคู่สมรส
จะตกเป็นโมฆะหรือไม่
ฎีกาที่ ๖๙๔๒/๒๕๖๒ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๙ วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น” ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ
ข. การที่ ข. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หา เป็นกรณีที่ ข. จัดการสินสมรสโดยปกติต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๔๗๖ (๕) และ มาตรา ๑๔๗๑๙ แต่ความยินยอมที่ต้องทำเป็นหนังสือนี้ แม้หนังสือยินยอมจะไม่ได้ทำที่สำนักงานที่ดินและต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็ตาม
เพียงแต่ผู้ให้ความยินยอมลงลายมือชื่อในหนังสือยินยอมดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙
วรรคหนึ่ง ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๙
ข. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ จึงเป็นการทำนิติกรรมที่ ข. ทำไปลำพังฝ่ายเดียว เป็นนิติกรรมที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งมีผลให้โจทก์ที่ไม่ได้ให้ความยินยอมขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๐ วรรคหนึ่ง แต่ตราบใดที่นิติกรรมดังกล่าวยังไม่ถูกศาลเพิกถอนย่อมยังมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
จำเลยซึ่งเป็น
คู่สัญญาย่อมมีสิทธิสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทเพราะกฎหมายมิได้บัญญัติว่า
นิติกรรมในการจัดการสินสมรสที่คู่สมรสทำไปโดยลำพังนั้นเป็นโมฆะ หรือโมฆียะ
คงบัญญัติแต่เพียงว่านิติกรรมนั้นอาจถูกศาลเพิกถอนได้ใน ภายหลังเท่านั้น
ดังนั้นนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทให้โดยเสน่หาระหว่าง ข. กับจำเลยจึงหาตกเป็นโมฆะไม่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๔๗๙
การใดที่สามีหรือภริยากระทำ ซึ่งต้องรับความยินยอมร่วมกัน
และถ้าการนั้นมีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ความยินยอมนั้น ต้องทำเป็นหนังสือ
มาตรา ๑๔๘๐ การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
ตามมาตรา ๑๔๗๖ ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว
หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้
เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็น มูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น
0 Comments
แสดงความคิดเห็น