คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๒๙/๒๕๖๒


               ป.วิ.อ. มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วย ลักษณะอุทธรณ์ฎีกา” ซึ่งหมายความว่า การอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูล ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา มิใช่โจทก์สามารถใช้ สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ทุกคดีเสมอไป

               คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๔๑ (เดิม) มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่เป็นเรื่องทางแพ่ง และศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ เนื่องจากเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๒๒ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.๒๕๒๐ มาตรา ๓ ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีของโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้องแล้ว ขอให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป จึงถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๕๒ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๔ และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.๒๕๒๐ มาตรา ๓ แม้โจทก์จะยื่นคำร้องขอให้มีการรับรองหรือขออนุญาตให้ฎีกามาด้วย ก็ไม่อาจดำเนินการให้ได้ เพราะขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มาจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๔๑๙๕/๒๕๕๘ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ มีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาดตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๗๐ การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ด้วย จึงมิชอบตามบทกฎหมายดังกล่าว เว้นแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง เมื่อข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ทุกข้อเป็นการวินิจฉัยพยานหลักฐานในคดี จึงเป็นการยกปัญหาข้อเท็จ จริงขึ้นทบทวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่อาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ แม้โจทก์ทั้งหกจะมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๗๐ คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา

               ถ้าโจทก์ร้องขอศาลจะขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ฎีกาก็ได้