คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๕๙/๒๕๖๒
จำเลยเดินเข้ามาถึงบริเวณใต้ชายคาบ้านที่เกิดเหตุแล้วก่อเหตุตามฟ้องโดยเปิดประตูหน้าบ้านและขว้างขวดแก้วเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุอันแสดงว่าจำเลยเข้ามาในบริเวณของบ้านที่เกิดเหตุแล้ว
แม้จะไม่ได้เข้าไปในบ้านโดยเดินเข้าประตูหน้าบ้านมาก็ถือว่าจำเลยเข้ามาในเคหสถานแล้ว
ตามนิยามในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ (๔) ที่ว่า “เคหสถาน” หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน
โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้ความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย
จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม จำเลยมีความผิดฐานบุกรุกเคหสถานโดยใช้กำลังประทุษร้ายและมีอาวุธตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๖๕ (๑) (๒) (เดิม) ประกอบมาตรา ๓๖๔ (เดิม)
เพิ่มเติม
บุกรุกเคหสถาน
จำเลยเข้าไปที่สนามหญ้าหน้าบ้านพักถือว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานแล้ว(ฎีกาที่
๑๙๐๔/๒๕๔๖) บ้านของผู้เสียหายไม่มีรั้วล้อม
บริเวณหลังบ้านอยู่ติดถนนส่วนบุคคล
บริเวณรอบบ้านเป็นที่วางสิ่งของเครื่องใช้อยู่โดยรอบ
ทางด้านหลังมีโอ่งน้ำและถ้วยชามวางอยู่กับมีหลังคายื่นออกมาคลุม
การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปอยู่ข้างประตูหลังบ้านย่อมถือว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานแล้ว(ฎีกาที่
๙๗๙๕/๒๕๕๒) หลังคาบ้านเป็นเคหสถาน(ฎีกาที่
๗๘๒๔/๒๕๕๖)
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๖๔
ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน
อาคารเก็บรักษาทรัพย์หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น
หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้นเมื่อผู้มีสิทธิที่จะ
ห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๖๕ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๖๒ มาตรา ๓๖๓ หรือมาตรา ๓๖๔ ได้กระทำ
(๑) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
(๒) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ
(๓) ในเวลากลางคืน
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี
หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
0 Comments
แสดงความคิดเห็น