คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๒/๒๕๖๓
ผู้เอาประกันภัยทราบก่อนลงลายมือชื่อรับรองข้อตกลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่าจำเลยที่
๑ เป็นฝ่ายกระทำละเมิดขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทและต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัย
แต่ผู้เอาประกันภัยยังคงตกลงยินยอมที่จะไม่ดำเนินคดีทางอาญาและทางแพ่งซึ่งรวมถึง
การไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ เกี่ยวกับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจากจำเลยที่ ๑
เช่นนี้มีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๘๕๐ มูลหนี้ละเมิดจากเหตุจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้เยาว์ขับรถจักรยานยนต์เฉียวชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยจึงระงับไปเนื่องจากมีการทำสัญญาประนีประนอม
ยอมความกันตามมาตรา ๘๕๒ โจทก์ย่อมไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดจากจำเลย
ที่ ๑ ผู้ทำละเมิดได้ เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์จำเลยที่ ๒
ซึ่งเป็นมารดาผู้ปกครองดูแลจำเลยที่ ๑ ย่อมพ้นความรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๔๐๓๗/๒๕๕๘ ข้อตกลงที่ระบุไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี
มีข้อความสรุปว่า ความเสียหายของรถยนต์พิพาทนั้น พ. ผู้ครอบครองรถยนต์จะใช้สิทธิการซ่อมตามประกันภัยของตน
ส่วนความเสียหายจากเหตุประมาทได้เรียกร้องจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยที่
1 ได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ พ. แล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีกับฝ่ายจำเลยที่
๑ แสดงว่า พ.
ผู้ครอบครองรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ประสงค์ที่จะให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าซ่อมรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดีดังเดิมตามสัญญาประกันภัย
ส่วนความเสียหายจากเหตุประมาทที่เรียกร้องจากจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาทนั้น
เป็นกรณีที่ พ. เรียกร้องค่าเสียหายอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าสินไหม
ทดแทนในการซ่อมรถยนต์ ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่ทำให้สิทธิในการเรียกร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสิ้นสุดลงอันเป็นการระงับข้อพิพาทตามลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความ
เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์พิพาท
โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้
โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๘๕๐
อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
มาตรา ๘๕๒ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน
0 Comments
แสดงความคิดเห็น