คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๖๕/๒๕๖๒
หนังสือรับสภาพหนี้และหนังสือรับผิดมีข้อความว่าบิดาจำเลยกับพวกร่วมกันฉ้อโกงโดยใช้กลอุบายทำให้ได้ทรัพย์สินไปจากโจทก์
และยอมรับชำระหนี้โดยออกเช็คไว้ให้ ซึ่งจำเลยออกเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์ แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นหนี้ที่บิดาจำเลยขายลดเช็คให้แก่โจทก์
และจำเลยไม่ได้มีส่วนในการนำเช็คไปขายลดก็ตาม แต่การที่จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้และหนังสือรับผิดโดยยอมร่วมรับผิดที่จะชดใช้หนี้ให้แก่โจทก์และออกเช็คพิพาทให้โจทก์
ถือได้ว่า มีการทำหนังสือรับสภาพหนี้อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแม้จำเลยจะมิได้เป็นผู้ก่อหนี้
การที่จำเลยออกเช็คโดยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ที่บิดาจำเลยเป็นหนี้โจทก์
และโจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้เพราะบัญชีปิดแล้ว ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค
การกระทำของจำเลยเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ (๑) (๒)(๕)
ตามฎีกานี้ จำเลยฎีกาว่า
จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในหนี้ของบิดาจำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
เมื่อจำเลยยอมรับผิดร่วมกับบิดาและออกเช็คเพื่อชำระหนี้
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๑๖๗๗/๒๕๕๗ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการ
ใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย
โดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (๑) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้
เงินตามเช็คนั้น...” จะเห็นได้ว่า การกระทำใดจะมีมูลความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะต้องพิจารณาได้ความว่า
เป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่มีอยู่ก่อนและหนี้นั้นจะต้องบังคับได้ตาม กฎหมาย เช่น
การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น
ต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ
จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
๖๕๓ วรรคหนึ่ง และได้มีการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวนั้น
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการ
ใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔
มาตรา ๔ ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
ดังต่อไปนี้
(๑)
เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(๒)
ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(๓) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(๔)
ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(๕)
ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต
เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย
ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น
ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
0 Comments
แสดงความคิดเห็น