คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๙/๒๕๖๓
แม้คดีก่อนของศาลชั้นต้นที่จำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสามคดีนี้เป็นจำเลย
โจทก์ทั้งสามให้การว่า การกระทำของจำเลยในคดีนี้เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามก็ตาม
แต่ชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นในคดีก่อนกำหนดประเด็นข้อพิพาทประเด็นเดียวว่า
ทางพิพาทเป็นภาระจำยอมหรือไม่ คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยว่า การที่จำเลย
เข้าไปใช้ประโยชน์ในทางพิพาทเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทางพิพาท
ข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสาม เป็นเรื่องของการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์
ทั้งขอให้บังคับจำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์กับชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
ประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยในคดีนี้คือเรื่องละเมิด เป็นคนละประเด็นกับประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนเรื่องทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่
หาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในคดีก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ
แพ่ง มาตรา ๑๔๔ ไม่
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๙๑/๒๕๖๒ ปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม
ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๔ หรือไม่นั้น เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ถึงแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในปัญหาข้อนี้ไว้ แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น
จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ.
มาตรา ๒๔ ได้ ไม่ถือเป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๔๔ เมื่อศาลใดมีคำพิพากษา
หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือ
ประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น
เว้นแต่กรณีจะอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วย
(๑) การแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น
ๆ ตามมาตรา ๑๔๓
(๒) การพิจารณาใหม่แห่งคดีซึ่งได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินไปฝ่ายเดียว
ตามมาตรา ๒๐๙ และคดีที่เอกสารได้สูญหายหรือบุบสลายตามมาตรา
๕๓
(๓) การยื่น
การยอมรับ หรือไม่ยอมรับ ซึ่งอุทธรณ์หรือฎีกาตามมาตรา ๒๒๙ และ ๒๔๗ และการดำเนินวิธีบังคับชั่วคราวในระหว่างการยื่นอุทธรณ์
หรือฎีกาตามมาตรา ๒๕๔ วรรคสุดท้าย
(๔) การที่ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ส่งคดีคืนไปยังศาลล่างที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้น
เพื่อให้พิพากษาใหม่หรือพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามมาตรา ๒๔๓
(๕) การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา
๒๗๑
ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิในอันที่จะบังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๖ และ ๒๔๐ ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยศาลอื่นแต่งตั้ง
0 Comments
แสดงความคิดเห็น