คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๕๙๗/๒๕๖๒
ผู้ถูกกล่าวหามิได้หลงลืมต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นทนายความ
และทราบดีอยู่แล้วว่าตนถูกลงโทษคดีมรรยาททนายความห้ามทำการเป็นทนายความ ๓ ปี
แต่กลับปกปิดข้อเท็จจริงและรับเป็นทนายความเข้าว่าความให้แก่โจทก์ในการพิจารณาคดีอาญาของศาลชั้นต้น
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาถือได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
อันเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๑
(๑)
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๕๔๙๔/๒๕๖๒ บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงในกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีผู้กระทำการละเมิดอำนาจศาล
การดำเนินการดังกล่าวมิใช่การดำเนินคดีอาญาทั่วไป และกรณีมิใช่การสืบพยานปกติ
แต่เป็นเพียงการไต่สวนด้วยการสอบข้อเท็จจริง และการจะสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้รู้เห็นเหตุการณ์หรือผู้เกี่ยวข้องคนใด
จำนวนมากน้อยเพียงใด เป็นดุลพินิจของศาล
เมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความชัดเจนพอจะวินิจฉัยได้ก็สามารถ ยุติการสอบถามและมีคำสั่งได้
การที่ศาลชั้นต้นมิได้นำผู้กล่าวหามาสอบถาม แต่ได้สอบถาม พ. เจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้องของผู้ถูกกล่าวหา
และทำบันทึกเสนอผู้พิพากษาหัวหน้าศาล กับได้สอบถามจำเลย ทนายโจทก์ทั้งหก
และได้สอบถามผู้ถูกกล่าวหาเพื่อให้โอกาสได้แก้ตัวแล้ว จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบ
ข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสอบถามดังกล่าวย่อมรับฟังลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้
ฎีกาที่ ๖๒๙๔/๒๕๕๘ ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล
ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดสมุทรสาคร
และมีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลเพื่อไต่สวนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
หรือไม่ จึงไม่มีสิทธิฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๗ ดังกล่าวได้
ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ให้อำนาจผู้อำนวยการประจำศาล
ฎีกาในกรณีเช่นนี้ได้
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๓๑ ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้
ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
(๑) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย
หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
(๒) เมื่อได้มีคำร้องและได้รับอนุญาตจากศาลให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา
๑๕๖/๑ แล้ว ปรากฏว่าได้แสดงข้อเท็จจริงหรือเสนอพยานหลักฐานอันเป็น
เท็จต่อศาลในการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
(๓)
เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่น ๆ ถึงตน แล้วจงใจไปเสียให้พ้น
หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น
(๔) ตรวจเอกสารทั้งหมด
หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวนความ หรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไป
โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา ๕๔
(๕) ขัดขืนไม่มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา ๑๙ หรือเมื่อมีหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นตามมาตรา ๒๗๗
0 Comments
แสดงความคิดเห็น