คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๕๕/๒๕๒๒

               บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาจะให้รถยนต์ที่ผู้ตายขับชนกับรถโดยสารประจำทางซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นอยู่แล้วว่า เมื่อรถโดยสารแล่นสวนทางมาในระยะใกล้ หากจำเลยได้หยุดและหักรถหลบเข้ามาทางซ้าย ผู้ตายต้องหลบมาทางขวา จะชนกับรถโดยสารในทันที ผู้ตายและผู้โดยสารต้องถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส และรถทั้งสองชนกันมีคนตายและบาดเจ็บสาหัสดังเจตนาของจำเลย หรือมิฉะนั้นก็ขับรถด้วยความประมาทแสดงว่าฟ้องมีความประสงค์ให้ลงโทษอย่างใดอย่าง หนึ่ง หาใช่ขอให้ลงโทษทั้งสองอย่างไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘ (๕) และจำเลยเข้าใจฟ้องได้ดี ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๔๗/๒๕๑๑)

               จำเลยขับรถปิดเส้นทางไม่ยอมให้ผู้ตายซึ่งขับรถตามหลังมาแซงขึ้นหน้า เมื่อรถโดยสารประจำทางแล่นสวนทางมา จำเลยก็แกล้งเบรคให้รถหยุดในทันที การกระทำเช่นนี้จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าผู้ตายต้องหักรถหลบไปทางขวาและชนกับรถโดยสารนั้น ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำของจำเลยได้ว่าจะมีผู้ได้รับอันตรายบาดเจ็บ และตายเกิดขึ้นจากเหตุที่รถชนกันนั้น ฉะนั้นเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยผลแห่งการกระทำของจำเลยดังกล่าว จึงได้ชื่อว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย

 

หมายเหตุ ข้อสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ข้อ ๒. ภาคหนึ่ง สมัยที่ ๗๓ ปีการศึกษา ๒๕๖๓.

 

ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๕๙ บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

               กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

               มาตรา ๒๘๘ ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี