คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๔๐๓/๒๕๖๑
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๖๙๒ บัญญัติว่า อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้น
ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย แต่หาได้บัญญัติด้วยว่าหากอายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายหนึ่งจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายอื่นด้วยไม่
บทบัญญัติดังกล่าวเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้
แต่ในระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดต่อกันไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตรา ๒๙๕ ซึ่งกำหนดว่า
อายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น
ดังนั้นอายุความจึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่บริษัท ม. เท่านั้น หามีผลถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกับบริษัท ม. ไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน
๑๐ ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ตามฎีกานี้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท ม.ชำระหนี้บางส่วนแก่เจ้าหนี้
จึงทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเฉพาะบริษัท ม. เท่านั้น แต่ไม่มีผลถึงจำเลย
ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกับบริษัท ม.
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๑๔๒๘๑/๒๕๕๘ คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของบริษัท
น. ต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ว. เจ้าหนี้เดิม โดยจำเลยทั้งสี่ลงลายมือชื่อเป็นพยาน
และเป็นผู้ให้ความยินยอมในฐานะเป็นภริยาของคู่สมรสที่ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสี่จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม
ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๙๐ (๔) ซึ่งต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘๙ แต่จำเลยทั้งสี่ก็มิใช่ผู้ค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์โดยตรง ความรับผิดของจำเลยทั้งสี่ต่อโจทก์เป็นเพียงลูกหนี้ร่วมตามบทบัญญัติของกฎหมายครอบครัวซึ่งมิใช่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในฐานะผู้ค้ำประกัน
กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม
ป.พ.พ. มาตรา ๖๙๒ มาใช้บังคับกับจำเลยทั้งสี่ได้ ส่วนการที่โจทก์นำคดีไปฟ้องคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ แม้จะมีผลทำให้อายุความในหนี้ที่คู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๑๔
(๒) ก็ตาม แต่อายุความที่สะดุดหยุดลงดังกล่าวย่อมเป็นโทษเฉพาะคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้ค้ำประกัน ไม่มีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๙๕
ตามฎีกานี้
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ลูกหนี้ชั้นต้นชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ จึงทำให้อายุความสุดหยุดลง
ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วยคือคู่สมรสของจำเลยทั้งสี่ แต่ไม่มีผลเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสี่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๖๙๒
อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้น ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย
มาตรา ๒๙๕ ข้อความจริงอื่นใด
นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๙๒ ถึง ๒๙๔ นั้น
เมื่อเป็นเรื่องเท้าถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น
เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง
ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คำบอกกล่าวการผิดนัด การที่หยิบยกอ้างความผิด การชำระหนี้อันเป็นพันวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลง
และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน
0 Comments
แสดงความคิดเห็น