คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๔๖/๒๕๖๒

               ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๕ ประกอบมาตรา ๘๓ แต่ให้รอการกำหนดโทษและคุมประพฤติไว้ จึงไม่เป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๑๘ และต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน ๕ ปี เมื่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๑๘๒/๑ ที่จำเลยฎีกาพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกา

               ตามฎีกานี้ ในศาลชั้นต้นจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นพิพากษาจำคุก และให้รอการกำหนดโทษไว้ ๑ ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๓๑/๒๕๔๗ การที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนส่งตัวจำเลยที่ ๑ ไปฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมามีกำหนด ๑ ปี แทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยที่ ๑ นั้น ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค ๓ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืนคู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา ๑๒๔ ประกอบมาตรา ๖

               ตามฎีกานี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ ๓ ปี ปรับ ๒๕ บาท จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน


พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓

               มาตรา ๑๘๒/๑ การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ในกรณีที่เป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา ๑๘๐ ต้องห้ามมิให้ฎีกา

               การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม