คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๔๗/๒๕๖๓ 

               โจทก์ร่วมที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้เยาว์เป็นผู้ร้องทุกข์เองโดยมี ด. พาโจทก์ร่วมที่ ๑ ไปร้องทุกข์ การร้องทุกข์มิใช่เป็นการทำนิติกรรม โจทก์ร่วมที่ ๑ กระทำเองได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม เมื่อโจทก์ร่วมที่ ๑ ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยและได้ให้การไว้ในฐานะผู้กล่าวหาความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราและความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๑ โจทก์มีอำนาจฟ้องตามมาตรา ๑๒๐

 

               ตามฎีกานี้ โจทก์ร่วมที่ ๑ (ผู้เสียหายที่ ๑) ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี เป็นผู้ร้องทุกข์ด้วยตนเอง โดยมีโจทก์ที่ ๒ (ผู้เสียหายที่ ๒) พาไปร้องทุกข์  ซึ่งโจทก์ร่วมที่ ๒ มิใช่ผู้แทนโดยชอบธรรม แต่เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ร่วมที่ ๑ มาโดยตลอด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  “การร้องทุกข์มิใช่เป็นการทำนิติกรรม โจทก์ร่วมที่ ๑ กระทำเองได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม” ในฐานความผิด

               ๑.ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา(ป.อ.มาตรา ๒๗๖)

               ๒.ความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร(ป.อ.มาตรา ๒๘๓)

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๒ ในประมวลกฎหมายนี้

               (๗) “คำร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ