คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๘๒/๒๕๖๓
โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชดใช้เงินตามมูลหนี้ตามเช็คพิพาทและ
ศาลมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทเป็นอันระงับสิ้นไป
ตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๒ แม้จำเลยไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก
ดังนั้น หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้น
เป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไป
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙
แม้สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมระบุยกเว้นว่า
การทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ไม่ ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือยอมความ
และไม่เป็นเหตุให้คดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกี่ยวกับเช็คพิพาทต้องเลิกกันจนกว่าจำเลย
จะได้ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ครบถ้วน หากจำเลยผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งให้โจทก์มีสิทธิหยิบยกคดีอาญาดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวได้ทันที
ข้อตกลงเช่นว่านี้มีวัตถุประสงค์ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายโดยชัดแจ้ง
ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ และสามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้ออื่นได้
ไม่ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งนั้นตกเป็นโมฆะทั้งหมด
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓
ตามฎีกานี้ คดีส่วนแพ่งมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
แม้จะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาไว้ ก็ถือว่า
คดีเป็นอันเลิกกันตามมาตรา ๗ แล้ว
หมายเหตุ เปรียบเทียบ ฎีกาที่ ๕๓๗๑/๒๕๖๐
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔
มาตรา ๗ ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๔ ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๔ ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
0 Comments
แสดงความคิดเห็น