คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๑๖/๒๕๖๐
โจทก์เป็นบุตรที่ผู้ตายรับรองจึงเป็นทายาทโดยธรรม
ส่วนจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ที่จำเลยอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยนั้น
ตามสภาพปกติธรรมดาของสังคมไทยย่อมต้องการให้ทรัพย์มรดกตกได้แก่บุตรหลาน และตาม
ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๒๙ ประกอบมาตรา ๑๖๓๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้สืบสันดานซึ่งหมายถึงบุตรหลานเป็นทายาทลำดับที่
๑ โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมจะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะผู้สืบสันดาน ส่วนจำเลยจะไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย
และจำเลยยังให้การว่า ขณะผู้ตายทำพินัยกรรมผู้ตายยังอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำที่โรงพยาบาล
พ. การทำพินัยกรรมจึงอยู่ในความรู้เห็นของจำเลย โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่โจทก์
โจทก์ต้องพิสูจน์เพียงว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่โจทก์จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๘๔/๑ คือโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมในฐานะผู้สืบสันดานมีสิทธิได้รับมรดกก่อนผู้ได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม และพินัยกรรมที่อ้างว่าผู้ตายทำขึ้นที่โรงพยาบาลภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่เรือนจำ
แต่ไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่เรือนจำรวมทั้งแพทย์และพยาบาลเข้ามาเกี่ยวข้องอันเป็นกรณีผิดปกติวิสัย
ดังนี้ จำเลยจึงมีภาระพิสูจน์ว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทไม่ใช่เอกสารปลอม
ตามฎีกานี้ จำเลยซึ่งมีภาระพิสูจน์ แต่จำเลยไม่นำ อ. และพยานในพินัยกรรมมาเบิกความยืนยันว่า พ. ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทจริงตามภาระพิสูจน์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าพินัยกรรมฉบับพิพาท พ. ไม่ได้ทำขึ้นและเป็นพินัยกรรมปลอม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๘๔/๑ คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว
0 Comments
แสดงความคิดเห็น