คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๕๙/๒๕๖๓ 

               ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔ บัญญัติบังคับให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหานั้น มีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่าจะถูกสอบสวนในเรื่องใด และทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด โดยไม่จำต้องแจ้งทุกข้อหา ทุกตัวบทกฎหมาย ทุกมาตรา และทุกกระทงความผิด เสมอไป แม้เดิมพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่ากระทำความผิดในช่วงเวลาใดไว้ แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดในช่วงเวลาอื่นด้วย ก็สามารถทำการสอบสวนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการกระทำในช่วงเวลาอื่นได้

               เมื่อข้อเท็จจริงจากการสอบสวนได้ความเพิ่มเติมว่า จำเลยกระทำความผิดในช่วงวันเวลาอื่นที่ใกล้ชิดกับการกระทำความผิดที่ได้แจ้งข้อหาไว้เดิม ย่อมถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดที่จำเลยกระทำในช่วงวันเวลาอื่นโดยชอบแล้ว ประกอบกับชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธโดยไม่มีรายละเอียดแห่งการปฏิเสธ และเพิ่งมาอ้างว่า จำเลยไม่เข้าใจข้อหาและพฤติการณ์ในการกระทำความผิด ทำให้ไม่สามารถให้การและนำพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้ถูกต้องหลังจากที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยไม่เข้าใจข้อหา และพฤติการณ์ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดที่จำเลยกระทำในช่วงเวลาที่การสอบสวนได้ความเพิ่มเติมได้

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๓๔ เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ

               การแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้น

               ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม

               พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้