คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๒๖๑/๒๕๖๑
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐, ๘๓ กับร่วมกันมีอาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด
โดยไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้และมีกระสุนปืนไม่ทราบชนิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๘๐, ๘๖ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
๒๘๘ ประกอบมาตรา ๘๖ ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐, ๘๓ และข้อหามีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้และมีกระสุนปืนไม่ทราบชนิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน
เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ วรรคหนึ่ง ด้วย คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา มาตรา ๒๒๐ ฎีกาโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐, ๘๓ และข้อหามีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้และมีกระสุนปืนไม่ทราบชนิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน
พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ วรรคหนึ่ง
จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว
เพิ่มเติม
ฎีกาที่ ๑๙๓๙/๒๕๖๑ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า
จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ตายอันเป็นการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม
ป.อ. มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๗๒ ผู้ตายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา
๒ (๔) จึงยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค ๙ เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า
จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๗๒ เท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค
๙ พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา ๒๘๘คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม
ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๐
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๒๒๐ ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์
0 Comments
แสดงความคิดเห็น