คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗๐/๒๕๖๓ 

               ในคดีอาญาที่จำเลยไม่ให้การหรือให้การปฏิเสธ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๓/๑ ให้มีการตรวจพยานหลักฐานโดยให้โจทก์ส่งเอกสารและวัตถุที่โจทก์จะอ้างเป็นพยานให้อีกฝ่ายตรวจสอบตามที่คู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควรก่อนสืบพยานโจทก์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม จึงไม่จำต้องใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีแพ่งมาใช้บังคับในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕

                    โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานน้อยกว่า ๗ วัน ก่อนวันตรวจพยานหลักฐานอันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๓/๑ วรรคสอง จำเลยทั้งสองได้รับสำเนาบัญชีระบุพยานในวันนั้นโดยไม่ได้คัดค้านและทนายจำเลยทั้งสองซักค้านพยานที่โจทก์ระบุในบัญชีระบุพยานได้อีกด้วย การไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา ๑๗๓/๑ วรรคสอง ของโจทก์มิได้ทำให้จำเลยทั้งสองเสียโอกาสในการต่อสู้คดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในบัญชีระบุพยานโจทก์ว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมรับรวม ๒๔ อันดับ สำเนาให้จำเลยทั้งสอง” แสดงว่าศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงใช้อำนาจอนุญาตให้สืบและรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๙/๑ วรรคท้ายแล้ว กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นไม่จำเป็นต้องบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาอีก

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๘๓๗๙/๒๕๕๗ พยานหลักฐานที่ศาลมีอำนาจสืบพยานเพิ่มเติมตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๘ และพยานหลักฐานที่ศาลยอมให้คู่ความฝ่ายที่อ้างว่าคำเบิกความของพยานคนใดที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างมาไม่ควรเชื่อฟังนำมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๒๐ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕ นั้น มิใช่การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด หรือเป็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่กฎหมายบังคับว่าโจทก์จะต้องบรรยายมาในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘ (๕) อีกทั้งมิใช่พยานหลักฐานที่คู่ความประสงค์ที่จะนำสืบสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนจะต้องนำสืบในกรณีปกติอันจะอยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๙/๑ หรือมาตรา ๑๗๓/๑ ที่คู่ความจักต้องยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใด

 

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

               ป.วิ.พ.มาตรา ๘๖, ป.วิ.อ.มาตรา ๑๗๓/๑, ๒๒๙/๑